เมื่อวันที่ 27 ส.ค.66 ที่ศูนย์การค้ามาร์เก็ตวิลเลจ หัวหิน จ.ประจวบฯ นายชูชีพ พงษ์ไชย รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างแฟชั่นอย่างยั่งยืน โดยมี ว่าที่พันตรี อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการ จ.ประจวบฯ, นายดำรงค์ มากระจัน พัฒนาการจังหวัดประจวบฯ, นายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอหัวหิน, นางอุษา พวงวลัยสิน นายกกิ่งกาชาด อ.หัวหิน, นายทวีสิน พัฒนาภิรัส ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบฯ, นายอมรเทพ อ่วมมีเพียร ผจก.ทั่วไปศูนย์การค้ามาร์เก็ตวิลเลจ หัวหิน และแขกผู้มีเกียรติให้การต้อนรับเข้าร่วมงานพร้อมชมนิทรรศการผ้าไทยและการเดินแบบผ้าไทยผ้าพื้นถิ่น จากนายแบบนางแบบกิตติมศักดิ์ จำนวน 30 คน ท่ามกลางความสนใจของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

 


ว่าที่พันตรี อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ กล่าวว่า จ.ประจวบฯ ได้จัดทำโครงการภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างแฟชั่นอย่างยั่งยืน เพื่อสีบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมการใช้ผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่น การรณรงค์ส่งเสริมอัตลักษณ์ความเป็นไทย และการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย พระองค์ท่านทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการอนุรักษ์พื้นฟูผ้าทอชนิดต่างๆทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีรายได้อย่างยั่งยืน และเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ส่งเสริมการใช้และสวมใส่ผ้าไทย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Model ของรัฐบาล และกระแสแฟชั่นที่ยั่งยืน สนับสนุนให้ประชาชนใช้แฟชั่นที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง โดยการทำเสื้อผ้าที่มีความทนทานและอายุการใช้งานนานขึ้น หรือกระบวนการผลิตใช้สารเคมีในการย้อมน้อยลง เน้นการใช้สีจากธรรมชาติที่มีในท้องถิ่น เพื่อสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมแฟชั่น หนึ่งในนั้น คือการซ่อมแซมและการนำเสื้อผ้ากลับมาใช้ใหม่ นี่คือสิ่งที่เรียกว่าเศรษฐกิจหมุนเวียน


จ.ประจวบฯ มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการใช้สีจากธรรมชาติแก่กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการด้านผ้า โดยบูรณาการร่วมกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (อพ.สธ.) ในการใช้พืชประจำจังหวัดและพืชประจำถิ่นที่สามารถให้สีได้ แต่จังหวัดมีข้อจำกัดในการผลิตผ้าคือ มีกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการด้านผ้าน้อย กลุ่มที่มีศักยภาพในการทอผ้าก็นับได้เพียงแค่กลุ่มเดียว คือ กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่า ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.63 “มาตรการ ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย" จังหวัดได้ร่วมกันวางแผนทบทวนว่าหากเราจะรณรงค์ให้ประชาชนสวมใส่ผ้าจังหวัด เราต้องมีกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการงานผ้าที่มีสินค้าพร้อมจำหน่าย จึงเป็นที่มาของการสนับสนุนงบประมาณให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฯไปจัดฝึกอบรมโครงการเพิ่มทักษะการทำผ้ามัดย้อมและการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อม และโครงการพัฒนาศักยภาพการแปรรูปผ้า เพื่อพัฒนาสู่ "ผ้าไทยใส่ได้ทุกวัย ใส่ได้ทุกวัน" ซึ่งทั้ง 2 โครงการ ที่จัดฝึกอบรมนั้นก็ได้ออกดอกออกผลเป็นผลสำเร็จที่ได้นำมาจัดแสดงในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นชุดที่แสดงแบบในโซนนิทรรศการที่เป็นผลงานจากโครงการพัฒนาศักยภาพการแปรรูปผ้าเพื่อพัฒนาสู่ "ผ้าไทยใส่ได้ทุกวัย ใส่ได้ทุกวัน" กลุ่มผ้ามัดย้อมที่ย้อมสีธรรมชาติจากต้นไม้ประจำจังหวัด คือ ต้นเกด การย้อมสีจากเปลือกต้นโกงกาง ต้นสนทะเล สีจากเปลือกมะพร้าว หรือแม้แต่สีจากดินในท้องถิ่น เช่น ดินจากผาฝั่งแดง อ.บางสะพานน้อย หรือดินสีทองจากดินคลองร่อนทอง อ.บางสะพาน เป็นต้น.  
​​​​​​​ ​​​​​​​