สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับโรงเรียนมัธยมศึกษาเครือข่ายทั่วประเทศ ภายใต้ “โครงการห้องเรียนพันธมิตร” ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 เพื่อส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียนมัธยมปลาย สนับสนุนการถ่ายทอดความรู้ ทักษะด้านวิชาการ การศึกษาดูงาน การแนะแนวอาชีพ การสร้างแรงบันดาลใจการเลือกศึกษาต่อ และแนวทางการประกอบอาชีพในอนาคต โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เป็นประธานลงนามร่วมกับ ผู้อำนวยการและผู้แทนโรงเรียนมัธยมศึกษาเครือข่ายจากภูมิภาคต่างๆ รวม 109 โรงเรียน เมื่อวันที่ 9-10 สิงหาคม 2566 โดยเป็นรอบของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคเหนือ ภายในงานได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูง คณบดี คณาจารย์ พีไอเอ็ม และบุคลากรทางการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมศึกษาเครือข่ายร่วมเป็นสักขีพยานและร่วมยินดี ณ อาคารหอประชุมปัญญาภิวัฒน์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ

โครงการห้องเรียนพันธมิตรได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญของพีไอเอ็มเพื่อพัฒนานักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ถ่ายทอดผ่านวิชาเรียน กิจกรรมทางวิชาการ การปฏิบัติ และการศึกษาดูงาน ส่งผลให้เกิดความเข้าใจ ความชอบ และความถนัด สามารถค้นพบศักยภาพของตัวเองที่เหมาะกับการเรียนต่อสาขาวิชาต่างๆ ในระดับมหาวิทยาลัยได้อย่างชัดเจนและรวดเร็วขึ้น โดยประกอบด้วย 9 ห้องเรียนได้แก่ 1.หลักสูตรศิลป์การจัดการธุรกิจการค้าสมัยใหม่ คณะบริหารธุรกิจ 2.หลักสูตรศิลป์การจัดการธุรกิจอาหาร คณะการจัดการธุรกิจอาหาร 3.หลักสูตรวิทย์-คณิต (เตรียมวิศวกรรม) คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี 4.หลักสูตรศิลป์ภาษาจีนเพื่อธุรกิจ 4.0 คณะศิลปศาสตร์ 5.หลักสูตรศิลป์ภาษาญี่ปุ่นเพื่อธุรกิจ 4.0 คณะศิลปศาสตร์ 6.หลักสูตรศิลป์ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารทางธุรกิจ คณะศิลปศาสตร์ 7.หลักสูตรวิทย์-คณิต (นวัตกรรมการจัดการเกษตร) คณะเกษตรนวัตและการจัดการ 8.ศิลป์ธุรกิจอุตสาหกรรมการบริการ คณะวิทยาการการจัดการ 9.หลักสูตรวิทย์-คณิต (วิทยาศาสตร์สุขภาพ) คณะพยาบาลศาสตร์

      พิธีลงนามความร่วมมือโครงการห้องเรียนพันธมิตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้

รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า “เราได้สานต่อความร่วมมือเพื่อสร้างคนเก่ง คนดี คนมีความสามารถอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนาให้มีความสามารถ 3 ประการ (Triple Literacy) ที่มีความสำคัญและเหมาะกับยุคสมัยซึ่งได้แก่ 1. ความสามารถด้านเทคโนโลยี ทั้งดิจิทัลเทคโนโลยี เทคโนโลยีเครื่องกล หรือเทคโนโลยีชีวภาพ 2. ความสามารถด้านภาษา (Language Literacy) เช่น อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ที่ใช้ได้อย่างคล่องตัว 3. ความสามารถด้านการเงิน (Financial Literacy) รู้จักการบริหารเงินส่วนบุคคล เงินครอบครัว และเงินที่เกี่ยวข้องในองค์กรต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียนตั้งแต่ต้นน้ำนั่นหมายถึงในระดับมัธยมเพื่อพร้อมเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ดังนั้นเชื่อมั่นว่าความร่วมมือนี้จะสร้างคนเก่งคนดีให้แก่สังคม เพราะบุคคลเหล่านี้ถือเป็นกุญแจที่ไขสู่ความสำเร็จในทุกๆ เรื่อง”

พร้อมกันนี้ภายในงานมีการเสวนาพิเศษหัวข้อ “การบริหารหลักสูตรเพื่อห้องเรียนพันธมิตรฯ” โดย ดร.สุภาวดี วงษ์สกุล ที่ปรึกษา และ อาจารย์ประวิตย์ ศรีหนองหว้า รองผู้อำนวยการ โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ร่วมถ่ายทอดแนวคิดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมศักยภาพการเรียนรู้ และสนับสนุนให้ผู้เรียนระดับมัธยมศึกษามีส่วนร่วมทั้งในห้องเรียนและการลงมือปฏิบัติ เพื่อโอกาสในการค้นพบตัวตนต่อยอดสู่การเลือกเรียนตามความถนัดในระดับมหาวิทยาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปิดท้ายด้วยกิจกรรมการเยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (iCRAS) และ ห้องปฏิบัติการการบริการและการท่องเที่ยว (Hospitality Laboratory) ซึ่งเป็นทั้งห้องเรียน ห้องปฎิบัติการ และพื้นที่สร้างสรรค์ผลงานตามแบบฉบับ Work-based Education ส่งเสริมการเรียนทฤษฎีในห้องเรียนควบคู่กับการฝึกปฏิบัติงานจริงอย่างเข้มข้น สำหรับพิธีลงนามความร่วมมือโครงการห้องเรียนพันธมิตรถัดไปจะจัดขึ้นสำหรับภูมิภาคตะวันออก และเขตกรุงเทพ-ปริมณฑล ในวันที่ 7 กันยายน 2566