วันที่ 27 ส.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่ สอท.พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่าได้รับรายงานจากระบบศูนย์บริหารการแจ้งความออนไลน์ พบผู้เสียหายหลายรายแจ้งความออนไลน์ว่าก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายได้ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการถูกหลอกลวงให้ซื้อสินค้าหรือบริการออนไลน์ การถูกหลอกลวงให้กู้เงิน การถูกหลอกลวงให้ลงทุน หรือการถูกหลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมโทรศัพท์ ทำให้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ผู้เสียหายจึงได้ใช้คำว่า “ แจ้งความออนไลน์ ” เป็นคีย์เวิร์ด (Keyword) ในการสืบค้นข้อมูลผ่านเว็บไซต์ค้นหา (Search Engine Site) ยอดนิยมต่างๆ เช่น Google.com, Bing.com เป็นต้น
ซึ่งทำให้พบเว็บไซต์การรับแจ้งความออนไลน์ที่ถูกยิงโฆษณาขึ้นมาเป็นลำดับแรกๆ ซึ่งภายหลังทราบว่าเว็บไซต์เหล่านี้มิจฉาชีพสร้างปลอมขึ้นมา เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อเข้าไปยังเว็บไซต์ปลอมดังกล่าวแล้ว มิจฉาชีพจะให้เพิ่มเพื่อนหรือแอดไลน์ไปยังบัญชีไลน์ซึ่งแอบอ้างเป็นที่ปรึกษากฎหมาย หรือทนายความชื่อบัญชีต่างๆ จากนั้นจะถูกสอบถามข้อมูลต่างๆ เริ่มตั้งแต่ขอทราบข้อมูลส่วนบุคคล รายละเอียดการถูกฉ้อโกงหรือหลอกลวง มูลค่าความเสียหาย และขอเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น ชื่อเว็บไซต์หรือชื่อแพลตฟอร์ม หลักฐานการโอนเงิน ประวัติการสนทนากับมิจฉาชีพ เป็นต้น
รวมถึงมีการทำหนังสือมอบอำนาจปลอมเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โดยให้ทนายปลอมดังกล่าวเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการทางคดีที่เกี่ยวข้องแทนผู้เสียหาย มีค่าดำเนินการ 10% จากมูลค่าความเสียหายทั้งหมด ต่อมาทนายความปลอมจะให้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายไอทีปลอม ซึ่งอ้างว่าสามารถติดตามกู้คืนทรัพย์สินที่ผู้เสียหายสูญเสียไปกลับคืนมาได้ โดยแจ้งผู้เสียหายว่าจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่าเงินของผู้เสียหายถูกนำไปฟอกเงินผ่านเว็บไซต์พนันออนไลน์ต่างประเทศ แต่ทีมไอทีสามารถทำการกู้ความเสียหายและนำเงินคืนกลับมาได้ โดยวิธีการโจมตีแพลตฟอร์มดังกล่าวทำให้ข้อมูลผันผวน โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายไอทีปลอมจะอธิบายให้ผู้เสียหายทำตามขั้นตอน เริ่มจากการเข้าไปสมัครสมาชิกเว็บไซต์พนัน ผูกบัญชีธนาคาร และเติมเงินเข้าไปในบัญชี โดยมิจฉาชีพจะให้ผู้เสียหายเล่นพนันในเวลาที่เจ้าหน้าที่โจมตีระบบ เพื่อทำให้เล่นการพนันชนะได้ทรัพย์สินกลับคืนมา
นอกจากนี้แล้วผู้เสียหายยังถูกชวนให้เข้ากลุ่มผู้เสียหายหน้าม้าอีกซึ่งมีประมาณ 5-10 คน ทำหน้าที่สนทนาโต้ตอบกับเจ้าหน้าที่ไอทีปลอม มีการพูดหรือแสดงในลักษณะว่าได้รับเงินคืนจริง เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินเติมลงไปในเว็บไซต์พนันดังกล่าว เริ่มแรกเมื่อเดิมพนันชนะจะได้จะเงินคืนและสามารถถอนออกมาได้จริง แต่เมื่อมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินไปเดิมพันมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ทำให้ต่อมาผู้เสียหายไม่สามารถถอนเงินออกมาจากระบบได้ เจ้าหน้าที่ไอทีปลอมจะอ้างเหตุผลต่างๆ ที่ไม่สามารถถอนเงินได้ เนื่องจากเป็นความผิดของเว็บไซต์พนันออนไลน์ หรือถูกเว็บไซต์พนันนั้นหลอกลวง
ด้าน บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการแอบอ้างหน่วยงานของรัฐ หลอกลวงเอาทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนตัวของประชาชนไปแสวงหาผลประโยชน์โดยผิดกฎหมาย ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน
ขณะที่ โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการใช้งาน หรือเข้าถึงบริการต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ ควรตรวจสอบช่องทางเหล่านั้นให้ดีเสียก่อนว่าเป็นของหน่วยงานนั้นจริงหรือไม่ ระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลทางคดี นอกจากมิจฉาชีพอาจจะใช้โอกาสหลอกเอาข้อมูลไปเเสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างแล้ว ยังอาจถูกหลอกลวงให้โอนเงินในลักษณะดังกล่าวอีกด้วย รวมถึงไม่หลงเชื่อเพียงเพราะมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงาน แอบอ้างสัญลักษณ์ของหน่วยงานนั้นๆ หรือมีการยิงโฆษณา หรือมีชื่อเพจ หรือเว็บไซต์ที่ตั้งชื่อคล้ายกับของหน่วยงานนั้นจริงเท่านั้น
ดังนั้นจึงขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการป้องกันเข้าสู่เว็บไซต์ปลอม ดังนี้
1.หากท่านต้องการจะเข้าเว็บไซต์ใดให้พิมพ์ หรือกรอกชื่อเว็บไซต์ด้วยตนเอง ป้องกันการเข้าสู่เว็บไซต์ปลอม
2.ประชาชนที่ได้รับความเสียหายในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความออนไลน์ได้ที่ https://thaipoliceonline.com เท่านั้น โดยสามารถโทรสอบถามได้ที่ สายด่วนตำรวจไซเบอร์ 1441 หรือ 081-866-3000 ไม่มีช่องทางไลน์ทางการ มีเพียงแชทบอท @police1441 ไว้ปรึกษาคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งคอยให้บริการตอบคำถามประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง
3.ระมัดระวังการสืบค้นข้อมูลผ่านเว็บไซต์ค้นหาต่างๆ (Search Engine Site) มิจฉาชีพอาจจะสร้างเว็บไซต์ปลอมขึ้นมา แล้วทำการยิงโฆษณาเพื่อให้ผู้เสียหายพบเป็นอันดับแรกๆ
4.บช.สอท. และหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจขแห่งชาติ ไม่มีนโยบายให้ประชาชนติดต่อกับที่ปรึกษากฎหมาย หรือทนายความ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี เพื่อทำการติดตามทรัพย์สินที่ถูกหลอกลวงไปกลับคืนได้แต่อย่างใด
5.ขั้นตอนการแจ้งความออนไลน์ ผู้เสียหายจะต้องลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านหมายเลขโทรศัพท์หรืออีเมลเสียก่อน จากนั้นเข้าไปกรอกรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นจะได้รับเลขรับแจ้งความออนไลน์ หรือ Case ID ไว้ใช้ในการติดตามความคืบหน้าทางคดี สอบถาม หรือแจ้งปัญหาได้ตลอดเวลา ไม่มีการให้เพิ่มเพื่อนหรือแอดไลน์ติดต่อกับเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด
6.เว็บไซต์ปลอมมีองค์ประกอบของเว็บไซต์น้อยกว่าเว็บไซต์จริง และเว็บไซต์ปลอมจะไม่สามารถเข้าคลิกเข้าไปสู่ฟังก์ชัน หรือคลิกเข้าไปสู่หน้าอื่นๆ ของเว็บไซต์ได้ ในกรณีเช่นนี้หวังเพียงให้แอดไลน์เพิ่มเพื่อนเท่านั้น
7.ไม่กรอก หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลทางคดี ผ่านสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก โดยเด็ดขาด
8.หากพบ หรือไม่แน่ใจว่าเป็นเว็บไซต์ของหน่วยงานนั้นๆ จริงหรือไม่ ให้ติดต่อไปยังหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง ผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ของหน่วยงานนั้น เพื่อสอบถามและแจ้งให้ทำการตรวจสอบทันที
9.หากมีการให้โอนเงินไปยังหน่วยงานที่ถูกแอบอ้างก่อนที่จะได้รับบริการใดๆ ให้สันนิษฐานว่าเป็นมิจฉาชีพแน่นอน