วันที่ 26 ส.ค.66 ที่โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร นายจีรวัฒน์ พราหมณี ปลัดเทศบาลเมืองหัวหิน จ.ประจวบฯ รับมอบหมายจาก นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน เข้ารับรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผ่านการประเมินรับรองเมืองสุขภาพดี (ระดับทอง) ภายใต้การจัดประชุมการยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สู่เมืองสุขภาพดี ประจำปี 2566 โดยมี นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานเปิดการประชุมและมอบรางวัล และมี Dr.Jos Vandelaer ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย บรรยายพิเศษในหัวข้อ "เมืองสุขภาพดี Healthy City" จัดโดย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสู่เมืองสุขภาพดี ซึ่งเทศบาลเมืองหัวหินได้เข้ารับการประเมินเมืองสุขภาพดี ประกอบด้วย 3 ด้าน มี 23 ตัวชี้วัด คือ 1.ด้านสิ่งแวดล้อมเอื้อต่อสุขภาพ Healthy Environments 2.ด้านสถานที่ที่เอื้อต่อสุขภาพ Healthy Settings และ 3.ด้านประชาชนรอบรู้และสุขภาพดี Healthy People 

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ กล่าวว่า กรมอนามัยได้ขับเคลื่อนภารกิจการส่งเสริมสุขภาพกลุ่มวัย สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพและพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการเมืองสุขภาพดี โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเป้าหมายในการขับเคลื่อนดำเนินงาน เพื่อยกระดับสู่การเป็นเมืองสุขภาพดี ถือเป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลคุ้มครองสุขภาพของประชาชนในระดับพื้นที่ มีความใกล้ชิดและเข้าใจถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นอย่างดี เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เข้าถึงบริการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพ และได้รับการส่งเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพครอบคลุมทุกกลุ่มวัย ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) Healthy Environments: สิ่งแวดล้อมเอื้อต่อสุขภาพ 2) Healthy Settings: สถานที่ที่เอื้อต่อสุขภาพ และ 3) Healthy People: ประชาชนรอบรู้และสุขภาพดี

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในปี 2566 กรมอนามัยได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ขับเคลื่อนดำเนินงานยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสู่การเป็นเมืองสุขภาพดี จำนวนทั้งสิ้น 108 แห่ง โดยผ่านการประเมินรับรองเมืองสุขภาพดีระดับทอง จำนวน 14 แห่ง (ร้อยละ 12.96) ผ่านการประเมินรับรองเมืองสุขภาพดีระดับเงิน จำนวน 39 แห่ง (ร้อยละ 36.11) และผ่านการประเมินรับรองเมืองสุขภาพดีระดับทองแดง จำนวน 55 แห่ง (ร้อยละ 50.93) จากการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว กรมอนามัยได้กำหนดเป้าหมายภายในปี 2570 ประเทศไทยจะมีเมืองสุขภาพดี ไม่น้อยกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน