เมื่อเวลา 13.25 น. วันที่ 25 ส.ค. 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงข้อสงสัยในการเข้าพักรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในโรงพยาบาลตำรวจ จะมีกำหนดกรอบเวลาหรือไม่ว่า ต้องฟังความเห็นจากคณะแพทย์ เท่าที่ได้รับคำยืนยันคือนายทักษิณ รักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ส่วนอาการยังทรงตัว ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาและตนเข้าใจว่าเป็นเรื่องของสุขภาพจิตที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย เคยมีรัฐมนตรี 2 คนแต่ไม่ขอบอกว่าเป็นใคร มาพูดติดตลกให้ฟังว่าสมัย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจและถูกคุมตัวไว้ จากเดิมที่อยู่บ้าน อยู่คอนโดสบาย มีสระว่ายน้ำ พอถูกควบคุมตัวความดันพุ่งสูงถึง 200 จึงต้องเห็นใจ เพราะมีความเป็นไปได้ คนที่อยู่สุขสบาย อยู่บ้านได้ออกกำลังกาย เมื่อไม่ได้ทำสิ่งเหล่านั้น ย่อมเกิดผลกระทบได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายทักษิณ สามารถย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่าไม่ควร และยังไม่เห็นมีเหตุผลที่ควร การย้ายตัวจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ มาอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ เพราะโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ไม่มีแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่โรงพยาบาลตำรวจ มีแพทย์เฉพาะทาง นอกจากนั้นราชทัณฑ์สามารถจัดกำลังเจ้าหน้าที่ 4 คน เข้าไปดูแลและมีกำลังตำรวจเข้าไปเสริมสลับเวรทำหน้าที่ได้ อีกทั้งโรงพยาบาลทั้งสองได้ทำเอ็มโอยู ในการส่งต่อผู้ป่วยมากว่า 30 ปี หากจะย้ายไปโรงพยาบาลอื่น อย่าว่าแต่โรงพยาบาลเอกชน ถึงจะเป็นโรงพยาบาลของรัฐ ก็ยังไม่เห็นเหตุผลที่จะไปตรงนั้น
เมื่อถามว่า ขณะที่นายทักษิณ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ สามารถยื่นเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ยื่นได้ เพราะถือว่าอยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์
เมื่อถามย้ำว่า ในการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ จะแยกคดี หรือนับรวมทุกคดีมีโทษจำคุกรวม 8 ปี นายวิษณุ กล่าวว่า ยื่นได้เลย ส่วนจะพระราชทานอภัยโทษในคดีใด หรือรวมทุกคดี ขึ้นอยู่กับพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ในการพระราชทานอภัยโทษ ตัวอย่าง สมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เคยมีคำสั่งไล่ออก ผู้พิพากษา 13 คน หนึ่งในนั้นมี นายประมาณ ชันซื่อ อดีตประธานศาลฎีกา ที่ถูกดำเนินการทางวินัยด้วย ต่อมานายประมาณ ได้ขอรับพระราชทานอภัยโทษ และได้รับพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งไม่มีใครคิดว่าผู้ที่ถูกดำเนินการทางวินัยจะได้รับพระราชทานอภัยโทษด้วย