นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนก.ค.66 มูลค่าการส่งออกของไทยยังคงหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า มีมูลค่า 22,143.2 ล้านดอลลาร์ ลดลง 6.2% จากเดือนเดียวกันปีก่อน จากตลาดคาด -2.8% ถึง -3.1% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 24,121 ล้านดอลลาร์ ลดลง 11.1% จากเดือนเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ในเดือนก.ค.66 ไทยขาดดุลการค้า 1,977.8 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) การส่งออก มีมูลค่า163,313.5 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.5% แต่ยังถือว่าดีกว่าหลายประเทศ เช่น ไต้หวัน สิงคโปร์ อินเดีย และอินโดนีเซียยังคงติดลบมากกว่าไทยทั้งสิ้น ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 171,598.9 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.7% ส่งผลให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ไทยขาดดุลการค้า 8,285.3 ล้านดอลลาร์ โดยเวลาที่เหลืออีก 5 เดือนถือว่าหนักแต่จะพยายามทำให้เต็มทีเพื่อให้เป้าหมายส่วออกโตตามเป้าหมาย 1-2%
โดยผลของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ของโลกลดต่ำลงมากจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในยูเครน ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องชะลอลงอย่างมาก ประกอบกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายภูมิภาค และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ส่งผลให้การบริโภคชะลอตัว อีกทั้ง จีนซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกฟื้นตัวช้าลงจากกำลังซื้อในประเทศที่หดตัวจากการขาดความเชื่อมั่นทางธุรกิจ
อย่างไรก็ดีจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านอาหารของโลก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอาหารเติบโตได้ดี โดยเฉพาะข้าว ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง และสุกรสด แช่เย็น แช่แข็ง ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมของไทยมีสัญญาณที่ดีจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า โซลาร์เซลล์ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ยางรถยนต์ และเครื่องจักรกล เป็นต้น ทั้งนี้ การส่งออกไทย 7 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 5.5 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 2.3
ส่วนมูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนกรกฎาคม 2566 การส่งออก มีมูลค่า 22,143.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 6.2 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 24,121.0 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 11.1 ดุลการค้า ขาดดุล 1,977.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวม 7 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 163,313.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 5.5 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 171,598.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.7 ดุลการค้า 7 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 8,285.3 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนกรกฎาคม 2566 การส่งออก มีมูลค่า 764,444 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 7.7 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 842,843 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 12.5 ดุลการค้า ขาดดุล 78,399 ล้านบาท ภาพรวม 7 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 5,554,796 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.8 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 5,910,357 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.1 ดุลการค้า 7 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 355,561 ล้านบาท
สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 9.6 (YoY) หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน โดยสินค้าเกษตร หดตัวร้อยละ 7.7 และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 11.8 แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 5.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ฮ่องกง สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และแคนาดา) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 18.8 กลับมาขยายตัว หลังจากหดตัวเมื่อเดือนก่อนหน้า (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ สหรัฐฯ มาเลเซีย และแคเมอรูน) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 17.8 กลับมาขยายตัว หลังจากหดตัวเมื่อเดือนก่อนหน้า (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา) ผักกระป๋องและผักแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 17.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน และออสเตรเลีย) นมและผลิตภัณฑ์นม ขยายตัวร้อยละ 27.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดกัมพูชา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงคโปร์ และฮ่องกง) ไข่ไก่สด ขยายตัวร้อยละ 92.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 15 เดือน (ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และมาเก๊า)
โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ยางพารา หดตัวร้อยละ 37.8 หดตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (หดตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และตุรกี แต่ขยายตัวในตลาดอิตาลี และกัมพูชา) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 12.9 หดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และซาอุดีอาระเบีย แต่ขยายตัวในตลาดลิเบีย อิสราเอล จีน ชิลี และสหราชอาณาจักร) น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 30.3 หดตัวในรอบ 3 เดือน (หดตัวในตลาดเกาหลีใต้ กัมพูชา ไต้หวัน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ ลาว จีน สหรัฐฯ และเวียดนาม) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 7.7 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ แต่ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และนิวซีแลนด์)
ไก่แปรรูป หดตัวร้อยละ 11.4 หดตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และแคนาดา แต่ขยายตัวในตลาดเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเบลเยียม) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัวร้อยละ 62.8 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดเมียนมา มาเลเซีย อินเดีย เวียดนาม และกัมพูชา แต่ขยายตัวในตลาดจีน เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง และไต้หวัน) ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 3.7