วันที่ 25 สิงหาคม 2566 ที่โถงจัดแสดงและห้องประชุมอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ศูนย์วิจัยการแพทย์ศิริราช(SiMR) ชั้น 12 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชโรงพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท แคริว่า (ประเทศไทย) จำกัดร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โดยมี ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมบริการและคุณค่าองค์กร คณะแพทย์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นายศิวดล มาตยากูร ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แคริว่า (CARIVA) ประเทศไทยจำกัด นางนาถฤดี โฆสิตาภัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานเทคโนโลยีและคาร์บอนโซลูชั่น บริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เข้าร่วม

 

รศ.นพ.เชิดชัย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ว่า เพื่อร่วมกันพัฒนาเชิงวิชาการ และระบบนิเวศนวัตกรรมทางการแพทย์ เช่น ระบบปัญญาประดิษฐ์(AI) พัฒนามาตรฐานการเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์อย่างถูกต้อง สามารถพัฒนา AI ให้สอดคล้องกับคนไทย และนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก AI จากต่างประเทศมีข้อมูลแตกต่างจากพื้นฐานประเทศไทย รวมถึง การพัฒนา AI เพื่อวิเคราะห์ภาพเอกซเรย์ และคำนวณขนาดอวัยวะต่าง ๆ เพื่อความแม่นยำทางการรักษา และพัฒนาการตรวจยีนส์ที่มีความแม่นยำมากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายถูกลง นอกจากนี้ยังมุ่งเป้าให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการด้าน AI เพื่อต่อยอดสู่ธุรกิจต่อไป เหล่านี้เป็นที่มาของการลงนามความร่วมมือในวันนี้

 

ศ.นพ.อภิชาติ กล่าวว่า ในอนาคต ความเชี่ยวชาญทางการแพทย์เพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถทำให้การรับมือกับภาวะทางสุขภาพเกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด หน่วยงานทางการแพทย์จึงจำเป็นต้องดึงความโดดเด่น เช่น องค์ความรู้ในการรักษา ความถนัดเฉพาะทาง รวมถึงนำข้อมูลที่มีอยู่มาผสานกับนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้สมรรถนะในการดำเนินงานไต่สูระดับที่สูงขึ้น เช่นเดียวกันกับคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลที่ได้นำข้อมูลที่มีคุณภาพ หรือ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาต่อยอดกับเทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์ ที่กำลังมีอิทธิพลต่อวงการการแพทย์ สิ่งสำคัญคือการลดปัญหาจำนวนผู้ป่วย และทำให้การวินิจฉัยทางกาแพทย์มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น

 

นายศิวดล กล่าวว่า แคริว่าได้นำความถนัดด้าน AI มาผสมผสานกับความรู้ความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผ่าน 4 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการ SiCAR Ai Lab : แพลตฟอร์มทดสอบ และพัฒนาแบบจำลองปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ 2.โครงการความร่วมมือกับภาควิชารังสีวิทยา ในการพัฒนา AI อ่านและวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์ เช่น อวัยวะ เนื้องอก 3.โครงการธุรกิจด้านจีโนมิกส์ส่งเสริมการเข้าถึงการตรวจความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งด้วยรหัสพันธุกรรม 4.โครงการความร่วมมือกับศูนย์ขับเคลื่อนคุณค่าการบริการ (VDC) พัฒนาสตาร์ทอัพ ต่อยอดนวัตกรรมการแพทย์สู่ธุรกิจ

 

นางนาถฤดี กล่าวว่า ไทยมีความพร้อมทั้งด้านคุณภาพการบริการ มาตรฐานการรักษา และเทคโนโลยีทางการแพทย์อีกทั้งยังเป็นประเทศที่ชาวต่างชาติไว้วางใจที่จะเดินทางมารักษาโรคและดูแลสุขภาพติดอันดับต้นของโลก รัฐบาลไทยจึงได้จัดทำ ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ การทำความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลในครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะทำให้สตาร์ทอัพในด้านดีพเทค และ AI ด้านการแพทย์ มีโอกาสพัฒนาศักยภาพเพิ่มมากขึ้น สร้างโอกาสด้านการลงทุน และช่วยผลักดันไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ครบวงจรของเอเชียได้