วันที่ 24 สิงหาคม 2566 เวลาประมาณ 05.00 น. ที่เมืองฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ชมเมืองฟูกูโอกะเพื่อศึกษาวิธีการบริหารจัดการเมืองด้านต่าง ๆ ระหว่างเข้าร่วมงานกระชับสัมพันธ์ 15 ปี จังหวัดฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น กับกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย 

โดยเริ่มตั้งแต่ สวนสาธารณะโฮโอริ มีพื้นที่กว่า 398,000 ตารางเมตร เป็นแหล่งรองรับน้ำขนาดใหญ่ เนื่องจากครึ่งหนึ่งของพื้นที่แบ่งเป็นสระน้ำกว่า 226,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย ทางเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน และเบรลล์บล็อก หรือแผ่นปูพื้นภาษาทางเท้าสำหรับผู้พิการทางสายตาโดยรอบสระ ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร สร้างขึ้นปี พ.ศ.2472 ถือเป็นปอดของชาวจังหวัดฟูกูโอกะ เมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องอัตราการเติบโตที่สุดในประเทศญี่ปุ่น มีประชากรกว่า 5 ล้านคน ปัจจุบันถูกบริหารจัดการให้คงความเป็นธรรมชาติ เช่น ปล่อยให้หญ้าขึ้นแซมบ้างตามเก้าอี้ของสวน ไม่ถึงกับต้องคอยตัดหญ้าทุกจุดตลอดเวลา รวมถึงสระบัวหลวงที่จัดพื้นที่ให้เติบโตดกแน่นจนเป็นทิวทัศน์กว้างมียุงจำนวนมาก แต่ยังคงความสะอาดไว้ ไม่มีถังขยะบริการ ประชาชนต้องนำกลับไปทิ้งเอง ถือเป็นวัฒนธรรมด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมของชาวเมือง

นายชัชชาติสนใจเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในสวน และเป็นแนวคิดที่จะนำมาพิจารณาปรับใช้ในกรุงเทพมหานคร เช่น จุดจอดและบริการจักรยานที่มีความปลอดภัย เพื่อนำไปประกอบนโยบายโครงการสร้างย่านจักรยาน เดินทางได้ทั่วด้วยการปั่น (Bicycle Corridor) มีจุดประสงค์ให้ประชาชนสามารถปั่นจักรยานออกมาจากซอยบ้านหรือที่พัก เพื่อมาเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ โดยมีจุดจอดและเส้นทางจักรยานในแต่ละย่านที่ปลอดภัยซึ่งจุดจอดและบริการในสวนฮิโอริประชาชนต้องเสียค่าบริการ เนื่องจาก เคยเปิดให้บริการฟรีแต่พบว่ามีจักรยานมาจอดทิ้งไว้อย่างถาวร

วัสดุทางเลือกสำหรับปูพื้นแทนกระเบื้องเป็นหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะฟุตบาทต่าง ๆ ของเมืองเลือกใช้วัสดุปูพื้นที่สามารถให้น้ำซึมลงพื้นดินได้ มีความยืดหยุ่น สามารถปรับแต่งให้เรียบเสมอกับพื้นถนนหรือฝาท่อระบายน้ำได้ง่ายกว่ากระเบื้อง เชื่อว่าดูดซับและระบายความร้อนของเมืองได้ แต่ยังไม่พบข้อมูลที่ชัดเจน รวมถึงป้ายรถเมล์ที่ออกแบบให้ตัวเสาติดขอบถนน เปิดพื้นที่นั่งด้านหลังโล่ง ต่างจากกรุงเทพมหานครซึ่งเสาอยู่ด้านหลัง ส่วนที่นั่งอยู่ด้านหน้าติดขอบถนน ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนถึงวัตถุประสงค์การออกแบบ แต่มีการสันนิษฐานว่าป้องกันรถเสียหลักพุ่งชนป้ายรถเมล์อย่างน้อยมีเสาช่วยรับแรงกระแทกก่อนถึงคนนั่งภายในป้าย รวมถึงป้ายรถเมล์บางจุดของกรุงเทพฯด้านหลังปิดทึบการเปิดด้านหลังโล่งทำให้ไม่รบกวนทางเท้าจนเกินไป

สำหรับสวนโฮโอริ เปิดพื้นที่ให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าไปได้ รวมถึงมีแปลงให้ประชาชนสามารถปลูกต้นไม้และดูแลด้วยตัวเอง สร้างการมีส่วนร่วม ซึ่งมีประชาชนรวมกลุ่มกันมาช่วยดูแล โดยเฉพาะผู้ที่มาวิ่งออกกำลังกายเป็นประจำ

ส่วนการจัดการขยะภายในเมือง กำหนดให้ประชาชนซื้อถุงขยะจากภาครัฐ(เทศบาลเมือง)เท่านั้น โดยมีการออกแบบถุงขยะประเภทต่าง ๆ ประกอบด้วย ประเภทที่ 1 ถุงสำหรับใส่แก้วรีไซเคิล ขนาด 30 ลิตร จำนวน 10 ถุง ราคา 150 เยน (36.13บาท) ประเภทที่ 2 ถุงขนาด 15 ลิตร สามารถเผาได้ ราคาและจำนวนเดียวกันกับประเภทที่ 1 ส่วนประเภทที่ 3 ถุงขนาด 30 ลิตร จำนวน 10 ถุง ราคา 300 เยน (72.27บาท) สามารถเผาได้ โดยถุงขยะทั้ง 3 ประเภทสามารถย่อยสลายได้ จึงกำหนดให้ประชาชนใช้ถุงที่ออกแบบไว้ หากเป็นถุงขยะอื่นจะไม่ได้รับการจัดเก็บ โดยปกติจัดเก็บสัปดาห์ละ 2 วัน ส่วนร้านอาหารจัดเก็บทุกวัน โดยใช้ถุงสำหรับร้านอาหารโดยเฉพาะ ส่วนการขายถุงขยะดังกล่าว จะนำเงินที่ได้ไปจ้างเอกชนเป็นผู้จัดเก็บขยะต่อไป โดยขยะส่วนใหญ่กำจัดด้วยวิธีการเผา โดยนายชัชชาติสนใจนำแนวคิดเรื่องถุงขยะดังกล่าวไปเสนอสำนักสิ่งแวดล้อม กทม.ต่อไป

​​​​​​​

นอกจากนี้ ในเทศบาลเมืองฟูกูโอกะซึ่งมีประชากรราว 1.5 ล้านคน ยังมีนโยบายจุดให้บริการน้ำและไฟฟ้าสำหรับหาบเร่แผงลอยบนทางเท้าในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งมีมิเตอร์กำหนดชัดเจน และปิดจัดเก็บเพื่อเปิดพื้นที่ทางเท้าสำหรับประชาชนในช่วงเวลากลางวัน รวมถึงมีโครงการ 1 คน 1 ดอกไม้ สนับสนุนการปลูกดอกไม้ประดับย่าน โดยมีเทศบาลเป็นผู้ดูแลดอกไม้ให้ เป็นแนวคิดสามารถนำไปปรับใช้ในกรุงเทพมหานครได้ โดยเฉพาะหาบเร่แผงลอยริมคลองสร้างแหล่งท่องเที่ยวช่วงเวลากลางคืน

​​​​​​​

สำหรับราคาเช่าคอนโดมิเนียมในฟูกูโอกะ ปัจจุบันอยู่ที่เดือนละ 47,000 เยน (11,314.17 บาท) บนพื้นที่ห้องขนาด19.29 ตารางเมตร มีค่าส่วนกลาง 3,000 เยน (721.05 บาท) ส่วนห้องขนาด 34.72 ตารางเมตร ราคาเดือนละ65,000 เยน (15,631.38 บาท) ขณะที่ค่าแท็กซี่เริ่มต้นที่ประมาณ 600 เยน (144.38 บาท) เงินเดือนปริญญาตรีจบใหม่เริ่มที่ 48,077.14 บาท หรือ 200,000 เยน ส่วนใหญ่มีค่าเดินทางให้ (เบิก) ขึ้นอยู่แต่ละบริษัท โดยฟูกูโอกะถือเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพถูกกว่าเมืองอื่นในประเทศญี่ปุ่น ตั้งอยู่ฝั่งทะเลติดกับจุดเชื่อมโยงการค้าประเทศจีน เกาหลี 

​​​​​​​

นายชัชชาติ กล่าวว่า จากการพูดคุยกับชาวญี่ปุ่น พบว่า คนญี่ปุ่นประทับใจประเทศไทย แต่ติดปัญหาเรื่องไกด์ผีและรถโดยสารหลอกนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะรถตุ๊ก ๆ และรถอื่น ๆ ที่ไม่มีมิเตอร์กำหนดราคาชัดเจน ส่วนใหญ่ใช้วิธีต่อรองราคาที่สูงเกินจริง ขอฝากผู้ที่เกี่ยวข้องว่าอย่าเอาเปรียบนักท่องเที่ยว สิ่งสำคัญคือการสร้างความไว้ใจ จะทำให้ได้รับผลตอบแทนระยะยาว หากใช้วิธีการหลอกจะได้รับประโยชน์เพียงครั้งเดียว ซึ่งทำให้ผู้อื่นได้รับผลกระทบไปด้วย