นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า FETCO จะเข้าไปหารือกับทางรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมและเดินหน้านโยบายขับเคลื่อนตลาดทุนร่วมกัน โดยจะมีการนำเสนอในเรื่องหลักๆคือ 1.ส่งเสริมตลาดทุน เพื่อให้เป็นกลไลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 2.การแก้ไขกฎเกณฑ์ และกฎหมาย ให้สอดคล้องกับ Digital Government เพื่อทำให้การอนุมัติ การอนุญาต การติดต่อทางการ เป็นไปด้วยความสะดวก รวมถึงปรับกฎเกณฑ์ เพื่อทำให้ตลาดทุนไทยพัฒนาไปข้างหน้าได้ อีกทั้งก็ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขฯ หลังที่ผ่านมาพบปัญหาในตลาดทุน หรือมีเรื่องที่เกิดขึ้นกรณีหุ้น บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK), หุ้นบมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE), การหลอกลวงการลงทุน รวมถึงจะทำอย่างไรที่เอาพลังของตลาดทุนไปช่วยรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่างๆ นอกจากนี้ FETCO และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยังเตรียมเสนอต่อรัฐบาลให้พิจารณาออกกองทุนใหม่ หลังจากกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) จะหมดอายุลงในปีนี้ และเตรียมปรับปรุงกองทุน SSF ให้มีความน่าสนใจมากกว่านี้ จากที่ผ่านมาพบว่าไม่ได้เป็นที่สนใจแก่ประชาชนมากนัก
สำหรับภาพรวมตลาดหุ้นไทยในครึ่งปีหลังนี้ มองว่านักลงทุนคงรอดูนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ว่าจะเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) มากแค่ไหน ซึ่งก็จะมีผลต่อทิศทางเงินทุนต่างชาติไหลเข้า (Fund Flow) ในระยะถัดไป อย่างไรก็ตามก็มองความเสี่ยงของไทยในช่วง 5 ปีข้างหน้า ที่จะมีเงินไหลเข้ามาลงทุนในภูมิภาคค่อนข้างมาก หากไทยยังโตน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จะทำให้ไทยเสียโอกาสในการดึงดูดการลงทุน
ขณะที่เศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปีนี้ ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ทำให้ยังคงคาดการณ์ว่า GDP จะโตได้ราว 3% จากภาคการท่องเที่ยวที่เข้ามาหนุน โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ที่จะเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว โดยคาดจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวแตะ 3 ล้านคนต่อเดือนในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งโจทย์สำคัญ คือ จะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในไทยมากขึ้น เพื่อพลิกฟื้นภาคท่องเที่ยวให้กลับมาเข้มแข็งในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ รวมถึงการดึงดูดการลงทุนของต่างชาติ ผ่านการสนับสนุนให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย เพื่อเป็นการพลิกฟื้นภาคอสังหาริมทรัพย์ได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้มอง 4 หัวใจสำคัญที่ไทยควรขับเคลื่อนในอีก 4 ปีข้างหน้า ได้แก่ 1.เทคโนโลยี โดยจะทำอย่างไรที่จะสามารถก้าวขึ้นไปในเรื่องของการพัฒนาและวิจัย (R&D) เทคโนโลยี เป็นของตัวเอง แนะรัฐบาล หากไทยไม่มีนักวิจัยเป็นของตนเองที่เพียงพอ ก็อยากให้มีการแก้ไขกฎเกณฑ์เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการทำ R&D เพื่อตอบโจทย์ของเอเชีย ขณะเดียวกันเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพของโลกมาใช้ฐานอย่างแท้จริง หรือเปิดโอกาสให้ Headquarter มาตั้งในประเทศไทย โดยมองว่าการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการขับเคลี่อนของเอเชียทั้งหมด จะเป็นจุดที่สำคัญ ที่สามารถทำได้ทันที และใช้ต้นทุนน้อยมาก 2.ต่อยอดธุรกิจเดิมไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ (New S Curve) เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV), ศูนย์กลางด้านสุขภาพ (Medical hub), ศูนย์กลางโลจิสติกส์ (Logistics Hub) รวมไปถึงเรื่องของดิจิทัลต่างๆ เช่น Soft Power, Animation ซึ่งประเทศไทยก็ถือว่าเป็นผู้เล่นต้นๆ ของโลก โดยไทยสามารถดำเนินการทันทีเช่นเดียวกัน ทำให้สร้างรายได้ในระหว่างการสร้างฐานใหม่
3.การส่งเสริมบริษัทไทยไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันอาเซียนถือเป็นเป้าหมายใหม่ของการลงทุนของโลก หากส่งเสริมอย่างเป็นระบบ ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนเศรษฐกิจไทยก้าวไปข้างหน้า 4.สร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับการลงทุนของไทย โดยเฉพาะในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น โครงการ EEC ซึ่งต้องเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง,โครงการท่าเรือฝั่งตะวันตก และโครงการที่จะเชื่อมกับโครงการ Belt and Road รวมถึงการแก้ไขเรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ