นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงแนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียกรุงเทพมหานครว่า ราคาจัดเก็บทั้งหมดอยู่ระหว่าง 2-8 บาทต่อลูกบาศก์เมตร โดยระยะแรกจะเริ่มเก็บค่าบริการในกลุ่มสถานที่ต่างๆ เช่น หน่วยงานราชการ เอกชน โรงพยาบาล วัด อาคาร หรือสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำไม่เกิน 2,000 ลบ.ม./เดือน ในราคา 4 บาทต่อลูกบาศก์เมตร และสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำเกิน 2,000 ลบ.ม./เดือน ในราคา 8 บาทโดยจะคิดค่าบริการ 80% ของการใช้น้ำประปาแต่ละเดือน ปัจจุบันกระบวนการอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นผู้ประกอบการและสถานที่ต่างๆ ในกลุ่มดังกล่าว ซึ่งจะสิ้นสุดการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 1 ก.ย.66 ก่อนจะสรุปเสนอต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามประกาศราชกิจจานุเบกษา และประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการหลังจากนั้น 60 วัน โดยคาดว่าจะเริ่มจัดเก็บอย่างเป็นทางการได้เร็วที่สุดในเดือนธันวาคม 2566 หากไม่มีข้อแก้ไขอื่นๆ เพิ่มเติม

สำหรับกลุ่มบ้านเรือนประชาชน กรุงเทพมหานครยังไม่มีแผนจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียจากกลุ่มบ้านเรือนประชาชน หรือผู้ประกอบการรายเล็กที่ใช้น้ำไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน เนื่องจากอยู่ในช่วงทดลองจัดเก็บในระยะเริ่มแรก และเกรงว่าจะเกิดแรงต้านทานจากภาคประชาชน อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียเป็นไปตามหลักสากล ซึ่งปกติจัดเก็บอยู่ที่ 100% ของการใช้น้ำประปาต่อเดือน แต่กรุงเทพมหานครมองว่าน้ำที่ใช้อาจไม่ใช่น้ำเสียทั้งหมด จึงจัดเก็บที่ 80% ของการใช้น้ำประปาต่อเดือนเท่านั้น

ทั้งนี้การเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียของกทม.แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ แหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 1 คือ 1.บ้านเรือนที่พักอาศัย 2.อาคารชุด หรือคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ หอพัก อัตราค่าธรรมเนียมจัดเก็บ 2 บาทต่อลูกบาศก์เมตร แหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 2 คือ 1.หน่วยงานของรัฐ อาคารทำการของหน่วยงานรัฐ 2.มูลนิธิ ศาสนสถาน 3.โรงพยาบาลและสถานพยาบาล 4.โรงเรียน 5.สถานประกอบการที่มีการใช้น้ำไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตร อัตราค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 4 บาทต่อลูกบาศก์เมตร และ แหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 3 แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ 1.โรงแรม 2.โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และ3.สถานประกอบการที่มีการใช้น้ำเกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน อัตราค่าธรรมเนียม 8 บาทต่อลูกบาศก์เมตร