เมื่อเวลา 08.50 น. วันที่ 23 ส.ค. 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะรักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการโหวตของสส.ประชาธิปัตย์ที่ไม่ไปในทิศทางเดียวกันว่า ในส่วนของพรรคมีองค์ประกอบ 3 ส่วนคือ พรรค กรรมการบริหารพรรค และสส. ซึ่งการดำเนินการที่ทำให้พรรคเสื่อมเสีย หรือไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณพรรค ก่อให้เกิดความแตกแยกก็เป็นสิทธิ์ของสมาชิก 20 คนที่จะเข้าชื่อตั้งกรรมการสอบสวนว่า สิ่งที่ทำนั้นทำให้เกิดความเสื่อมเสียกับพรรคหรือไม่อย่างไร ซึ่งมีสมาชิกหลายคนพูดขึ้นมาว่า ถ้าสมาชิกมีพฤติกรรมแบบนี้ก็คงต้องดำเนินการทำหนังสือถึงหัวหน้าพรรคให้ตั้งกรรมการกรรมการสอบสวน เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีการตั้งกรรมการไปเจรจาในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลจะต้องทำหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการจากพรรคแกนนำรัฐบาล 

ดังนั้นจึงมีขั้นตอนอยู่แล้ว ฉะนั้นใครที่เป็นสส.หรือรักษาการตำแหน่งที่ไม่ใช่ตำแหน่งโดยตรงและไม่ได้รับมอบหมายจากกรรมการบริหารพรรค ถ้าไปปฏิบัติในสิ่งที่เกินอำนาจหน้าที่ หรือปฏิบัติแล้วทำให้พรรคมีความเสื่อมเสียเพราะขณะนี้โดยระบบแล้ว ต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านไปแล้ว และรัฐบาลก็จัดตั้งรัฐบาล 11 พรรคไปแล้วดังนั้นพรรคก็ต้องจัดการภายในของพรรค

เมื่อถามว่า ใครที่จะเป็นคนจัดการตรงนี้ นายสาธิตกล่าวว่า ก็ต้องเป็นไปตามข้อบังคับพรรคที่ระบุว่า ใครจะมีสิทธิ์ทำอะไรอย่างไร เช่นมีสมาชิกบางคนเดินทางไปพบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ตอนแรกบอกว่าไม่ได้ไป แต่ออกมายอมรับในรายการทีวีว่าไป ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายกับพรรค การกระทำแบบนี้เข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมและสร้างผลกระทบทำให้พรรคเสียหาย

เมื่อถามว่า แต่สมาชิกอ้างว่าการโหวตเป็นเอกสิทธิ์ นายสาธิต กล่าวว่า การโหวตเป็นเอกสิทธิ์ก็จริงแต่มติสส.ในที่ประชุมก็มีความสำคัญ ซึ่งอาจไม่ผิดในแง่ผิดมติสส. แต่น่าจะผิดในแง่ของการทำให้พรรคเสื่อมเสีย

เมื่อถามว่า ตัวนายสาธิตจะเป็นผู้ริเริ่มให้มีการตรวจสอบคนที่โหวตสวนพรรคหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่ามีคนทำแล้ว และเกิน 20 คนที่เห็นว่า ความประพฤติแบบนี้และที่นำพาสส.ใหม่ที่ขาดประสบการณ์ไปร่วมด้วย ก็จะเป็นปัญหา เขาก็ดำเนินการแล้ว   ซึ่งทั้งหมดมีข้อมูลอยู่แล้ว การทำให้เกิดความเสื่อมเสีย พูดจากลับไปกลับมาทำให้พรรคเสียหาย หรือไปปฎิบัติหน้าที่โดยไม่ได้รับมอบหมาย

เมื่อถามว่า 16 เสียงที่โหวตให้พรรคเพื่อไทย จะสามารถอ้างชื่อว่ามาจากพรรคประชาธิปัตย์ได้หรือไม่นายสาธิต กล่าวว่า 16 เสียงนี้ก็ต้องผ่านที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคและสส. ก่อนที่จะร่วม ทุกอย่างมีขั้นตอน เราปฏิบัติมาหลายครั้งแล้ว และทุกคนก็เข้าใจข้อปฏิบัติดี

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า วันนั้นตกลงที่ประชุมพรรคกำหนดให้เป็นมติพรรคหรือเป็นเอกสิทธิ์ สส. นายสาธิตกล่าวว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นเอกสิทธิ์ แต่ขั้นตอนของพรรคก็มีการดำเนินการ แม้เป็นเอกสิทธิ์ แต่ถ้าในพรรคไม่ได้มีการคุยก็คือไม่คุย แต่เมื่อพรรคคุยกันแล้ว และให้เป็นมติสส.ก็ควรที่จะปฏิบัติตามมตินั้นถ้าถามว่าผิดไหมก็มีรัฐธรรมนูญที่ใหญ่กว่าข้อบังคับพรรคคุ้มครองอยู่ แต่ในเมื่อมีการตกลงกันแล้วก็ถือว่าทำให้เกิดความแตกแยกและสร้างความเสียหายให้พรรค 

เมื่อถามว่า แบบนี้จะต้องขับออกจากพรรคหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า จะต้องเป็นไปตามหนักเบา แต่ความเห็นส่วนตัวของตนเห็นว่ากรณีนี้หนักมาก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับกรรมการบริหารพรรค ขึ้นอยู่กับข้อบังคับพรรคว่าจะลงโทษอย่างไร และตนคิดว่ากรรมการบริหารพรรคส่วนใหญ่จะเข้าใจความเสียหายที่เกิดขึ้น

เมื่อถามว่า โทษตรงนี้จะถึงขนาดต้องขับออกจากพรรคหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่ามีโทษขับออกจากพรรคแต่ว่าจะทำได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อบังคับพรรคที่ต้องดำเนินการ ส่วนที่มีสมาชิกอยากให้ขับออกจากพรรคก็ถือเป็นอีกเรื่องนึง แต่ทุกเรื่องพูดคุยกันได้ อย่างไรก็ตามถ้ามีความเสียหายมากขนาดนี้ หัวหน้าพรรคจะต้องมีหนังสือและตั้งกรรมการสอบ