วันที่ 23 สิงหาคม 2566 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเผยคืบหน้าแนวทางการใช้จักรยานเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะ ว่า จากการลงพื้นที่สำรวจเส้นทางจักรยานย่านจรัญสนิทวงศ์ ถนนอิสรภาพ ถนนอรุณอมรินทร์ ร่วมกับกลุ่มนักปั่นภาคีเครือข่าย โดยเริ่มต้นที่รถไฟฟ้า MRT สถานีอิสรภาพถึงสถานีท่าพระ และ จากสถานีจรัญฯ13ถึงถนนอรุณอัมรินทร์ช่วงแยกวังเดิม พบปัญที่ต้องแก้ไข คือ 1.ปัญหากายภาพตลอดเส้นทาง ได้แก่ ถนนชำรุด มีร่องราง ขาดไฟส่องสว่างและป้ายนำทาง รวมถึงขาดกระจกโค้งบริเวณทางแยกในซอย เพื่อใช้มองรถมอเตอร์ไซค์ คนเดิน หรืออื่น ๆ ที่ใช้ถนนร่วมกัน 2.เส้นทางจากอิสรภาพไปสถานีท่าพระเป็นทางปูนแคบที่มีการติดตั้งตะแกรงระบายน้ำขนานไปกับถนน ทำให้ล้อจักรยานตกร่องตะแกรงได้

 

3.ทางเท้าถนนจรัญฯ จากซอยวัดเจ้ามูล - จรัญฯ 12 กระเบื้องหลุดล่อน มีแท่งเหล็กป้องกันจักรยานยนต์ขึ้นทางเท้าทำให้วีลแชร์ และจักรยานใช้ทางเท้าไม่ได้ไปด้วย 4.ที่จอดจักรยานบริเวณใต้สถานีท่าพระ เป็นแบบครึ่งวงกลม สูงจากพื้นประมาณ 30 เซนติเมตร ช่องเสียบล้อจักรยานแคบ ทำให้จักรยานล้อเล็กจอดไม่ได้เพราะติดดุมล้อ จักรยานล้อใหญ่สามารถจอดได้ แต่ไม่มีที่ล็อคตัวถัง ทำให้จักรยานไม่กล้าจอด เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย 5.บริเวณตีนสะพานอนุทินสวัสดิ์ช่วงก่อนถึงแยกวังเดิม อู่รถยนต์และอู่แท็กซี่ใช้พื้นที่ทางเท้าและริมถนนในการจอดซ่อมรถ 6.สะพานข้ามคลองข้างศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 33 ชันมาก ใช้งานไม่ได้จริง 7.เลนจักรยานบริเวณตั้งแต่แยกวังเดิมจนถึงกองทัพเรือกลายเป็นที่จอดรถ มีมอเตอร์ไซค์และรถยนต์จอดตลอดเส้นทาง

 

นายศานนท์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นในการเดินทางออกจากบ้านไปเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะอื่น ๆ และจุดสุดท้ายก่อนถึงบ้าน คือหนึ่งในเส้นทางสำคัญที่ควรต้องเร่งปรับให้ใช้งานได้จริงก่อนขยายผลออกไปยังจุดอื่น ๆ การใช้จักรยานปั่นออกมาจากซอยบ้านเพื่อต่อขนส่งสาธารณะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานได้ ทั้งขาไปและขากลับ ที่สำคัญจุดจอดจักรยานต้องปลอดภัย และมีเส้นทางที่เหมาะสม

 

โดยเรื่องดังกล่าว เป็นหนึ่งในนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านเดินทางดี ชื่อโครงการสร้างย่านจักรยาน เดินทางได้ทั่วด้วยการปั่น (Bicycle Corridor) มุ่งหวังให้คนกรุงเทพฯมีย่านที่เดินทางด้วยจักรยานได้จริงเนื่องจากในปี 2557 – 2559 กทม.ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างเส้นทางจักรยานรวม 48 เส้นทาง ระยะทาง 298 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 6 พื้นที่การใช้งาน ประกอบด้วย 1.เส้นทางบนผิวจราจร 2.เส้นทางรวมบนทางเท้า 3.เส้นทางบนผิวจราจร – ร่วมบนทางเท้า 4.เส้นทางจักรยานบนไหล่ทาง 5.เส้นทางจักรยานเฉพาะ 6.เส้นทางจักรยานในสวน

 

ทั้งนี้ เส้นทางจักรยานดังกล่าวยังไม่มีการใช้งานจริงเท่าที่ควร เนื่องจากติดปัญหา ดังนี้ 1.ทางจักรยานหลายเส้นทางกลายเป็นที่จอดรถ เป็นช่องทางเดินรถร่วม เป็นย่านการค้า ซึ่งอาจเกิดจากการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ 2.การดำเนินการทางกฎหมายยังไม่เข้มข้นพอ จึงทำให้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไข ถึงแม้จะเป็นเส้นทางจักรยานโดยเฉพาะซึ่งแยกออกจากระบบถนนก็ตาม 3.การพัฒนาทางจักรยานยังไม่ได้พัฒนาเป็นโครงข่าย 4.การพัฒนาโครงสร้างของพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการใช้จักรยาน เช่น ผ่านจุดตัดถนน ขาดจุดจอด ขาดแสงสว่าง มีสิ่งกีดขวาง เป็นต้น

 

ดังนี้ กทม.จะนำร่องพัฒนาย่านจักรยานในพื้นที่ที่มีทางจักรยานเฉพาะซึ่งแยกออกจากระบบถนน ให้สามารถใช้จักรยานเดินทางได้ โดยมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้ 1.ปรับปรุงจุดตัดทางจักรยานทั้งหมดให้เป็นทางม้าลาย พิจารณายยกระดับเนินชะลอความเร็วแบบแบนราบ (Flat topped speed) เสมอกับทางเท้า ตามความเหมาะสมของพื้นที่ปรับปรุงสิ่งขีดขวาง อาทิ ต้นไม้ ป้ายต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาต่อทัศนวิสัยของผู้ขับขี่บนถนนในการสังเกตเห็นจักรยาน ติดตั้งแถบชะลอความเร็วรถยนต์ ป้ายเตือนรถยนต์ที่ชัดเจน ทำสัญลักษณ์บนผิวจราจรแจ้งเตือน และแสงสว่างเพิ่มเติม

 

2.สร้างทางข้ามถนนที่เหมาะสมต่อจักรยานและบริบทพื้นที่ ปรับปรุงสะพานลอยเดิมด้วยการติดตั้งร่องราง ส่วนทางข้ามอื่น ๆ ตรวจสอบปรับปรุงให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย ทุกคนสามารถข้ามได้ 3.ปรับปรุงผิวทางให้เรียบ อาทิฝาท่อน้ำ ร่องรอยต่อถนน ร่องรางตัววีระบายน้ำ หมุดสะท้อนแสง เป็นต้น 4.สร้างจุดจอดจักรยานคุณภาพ ปลอดภัยเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะและพื้นที่อื่น ๆ โดยรอบ เช่น ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าต่าง ๆ โดยการสนับสนุนจาก กทม. 5.ปรับเส้นทางจักรยาน ให้ทุกถนนซอยมีทางปั่น สร้างเส้นทางให้เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงกัน

 

นายศานนท์ กล่าวว่า ปัญหาที่พบจากการลงพื้นที่ เบื้องต้นได้รวบรวมปัญหาและส่งต่อให้สำนักที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว หากมีความคืบหน้าจะแจ้งผลดำเนินการต่อไป

​​​​​​​ ​​​​​​​