โผล่อีก! แก๊งมอดไม้โชว์เหิม ตระเวนลอบตัดไม้พะยูง อีก 2 ต้น เตรียมขนย้ายใกล้พื้นที่ป่าดงระแนง ขณะที่ชุดปฏิบัติการพิเศษป่าไม้กาฬสินธุ์ เผยเกิดเหตุตัดไม้บ่อยครั้ง ผู้ต้องหาลอยนวล ขณะที่ฝ่ายความมั่นคง เผย เลขาฯ สพฐ. สั่งให้ผู้อำนวยการ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 ชี้แจงด่วน ด้านคำชี้แจง อธิบดีกรมธนารักษ์ ระบุธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ไม่เคยอนุญาตให้มีการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนคำไฮวิทยา เพื่อหาเงินเข้าแผ่นดิน แต่กลับมีเอกสารตอบให้ขาย โดยให้สำนักงานพื้นที่การศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 สามารถดำเนินการได้ในนามกรมธนารักษ์ฯ ระหว่างธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์กับ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2
จากกรณีไม้พะยูงของกลาง 7 ท่อน มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท หายไปจากสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ อย่างไร้ร่องรอย เมื่อช่วงคืนวันที่ 5 ส.ค.66 ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสว่ามีบุคคลของรัฐไม่น้อยกว่า 6 คน เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่จากแนวทางการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องให้การปฏิเสธ ถึงวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าของคดี แต่กลับมีปัญหาการตัดไม้พะยูงรายวันในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยเฉพาะที่โรงเรียนคำไฮวิทยา ต.หนองกุงศรี อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งมีการเปิดให้นายหน้าเข้ามาตัดไม้พะยูงภายในโรงเรียนถึง 22 ต้น ในราคา 153,000 บาท ต่ำกว่าราคาตลาด 28-56 เท่าตัว ผู้ว่าฯย้ำส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.- ส.ต.ง.-ป.ป.ท. เอาผิดทางวินัย แพ่ง อาญา ขณะที่ผู้การตำรวจกาฬสินธุ์ เร่งติดตามนายหน้าซื้อไม้พะยูงโรงเรียนมาสอบปากคำ ขณะที่ฝ่ายความมั่นคง เผยสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. สั่งให้ผู้อำนวยการเขตการศึกษาพื้นที่กาฬสินธุ์ เขต 2 ชี้แจง ส่วนอธิบดีกรมธนารักษ์ อ้างรายงานจากธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ว่าธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ไม่ได้อนุญาตให้ตัดไม้พะยูงในโรงเรียนคำไฮวิทยาเพื่อนำเงินเข้าหลวง ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้จะมีความพยายามป้องกันก็ยังพบว่าปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูง ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุด ใกล้ป่าสงวนแห่งชาติดงระแนง บริเวณหนองทึง แปลงปลูกทานตะวัน ต.หัวนาคำ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายธวัชชัย รอดงาม ผวจ.กาฬสินธุ์ ในฐานะที่ดูแลด้านทรัพยากรธรรมชาติพร้อมด้วย นายเอกรัตน์ มิสา นายอำเภอยางตลาด เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เข้าตรวจสอบการลักลอบตัดไม้พะยูงในที่สาธารณะ หลังได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.โนนสูง ว่าไม้พะยูงถูกตัดไปจำนวน 2 ต้น โดยเจ้าหน้าที่พบไม้พะยูงจำนวน 6 ท่อน เตรียมขนย้ายที่ถูกตัดวางอยู่ และร่องรอยของคนร้ายที่คาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 3 คน จึงได้ทำการตรวจยึดไปเก็บไว้ที่ สภ.โนนสูง
นายธวัชชัย กล่าวว่า เบื้องต้น ไม้พะยูงที่ถูกตัดรับทราบวันนี้ แต่จากที่สอบถาม เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบว่าเกิดขึ้นในช่วงกลางดึกของวันที่ 14 ส.ค.66 ซึ่งอยู่ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ได้เร่งติดตามปัญหาการขโมยไม้พะยูงของกลางเทศบาลตำบลอิตื้อ และคาดว่าอาจจะเป็นกลุ่มมอดไม้เดียวกันที่ขโมยไม้ของกลาง เจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ทำการแกะรอยเพื่อติดตามจับกุม ส่วนไม้พะยูงของกลาง จะได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่ สภ.โนนสูงต่อไป
ส่วนกรณีที่คนร้ายลักลอบตัดไม้พะยูงและไม้เศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เรื่องตัดไม้พะยูงในโรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 ทำสัญญาขายไม้พะยูงกับพ่อค้า โดยจัดให้มีการประเมินราคาขาย 22 ต้น 2 ตอ ต่ำกว่าราคาตลาด 28-56 เท่าตัว ยังไม่มีข้อยุติ ซึ่ง นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้กำชับให้ส่วนที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง
ทีมข่าวได้รับคำยืนยันจากฝ่ายความมั่นคง ระบุเลขาฯ สพฐ. สั่งการให้สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 แจงข้อเท็จจริง ปมตัดไม้พะยูงในโรงเรียน หลังสังคมจับตาความเหมาะสม และความผิดปกติในราคาประเมิน รวมทั้งกรณี อธิบดีกรมธนารักษ์ ให้ข่าวปฏิเสธว่า ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ปฏิเสธว่าไม่เคยอนุญาตให้ โรงเรียคำไฮวิทยาตัดไม้พะยูง เพื่อหาเงินเข้าแผ่นดิน โดยรายงานระบุว่า คำตอบของอธิบดีกรมธนารักษ์นั้น สวนทางกับเอกสารของธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ที่อนุญาตให้ขายไม้พะยูง โดยปรากฏมีเอกสารที่โต้ตอบ ระหว่างนายไสว สะอาด ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ กับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 2 จ.กาฬสินธุ์ ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2566 เป็นหนังสื่อโต้ตอบระหว่าง สำนักงานธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ที่ส่งตอบไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 2 จ.กาฬสินธุ์ เนื้อหาอ้างถึง หนังสือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 ที่ ศธ 04023/1738 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 มีใจความว่า ตามที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 แจ้งความประสงค์ ขอการดำเนินการจำหน่ายไม้พะยูง จำนวน 22 ต้น ตอไม้ จำนวน 2 ตอ ของโรงเรียนคำไฮวิทยา ต.หนองกุงศรี อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ โดยวิธีขายทอดตลาด เพื่อนำเงินเป็นรายได้แผ่นดินในนามกรมธนารักษ์ นั้น สำนักงานธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์พิจารณาเห็นว่าผู้ใช้ที่ราชพัสดุสามารถดำเนินการได้ตามนัยข้อ 14 แห่งกฎกระทรวงการใช้ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2563 และควรตัดเท่าที่จำเป็นตามนัยหนังสือกรมธนารักษ์ ที่ กค 0305/ว20 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 สำหรับไม้ที่ได้จากการตัดให้จำหน่ายโดยการแต่งตั้งคณะกรรมการไม่น้อยกว่า 3 คน เพื่อพิจารณาจำหน่ายอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่จะทำการรื้อถอน วัสดุที่รื้อถอนแล้ว หรือจำหน่ายต้นไม้ ดิน หรือวัสดุอื่นๆ ที่ได้มาจากที่ราชพัสดุตามนัยข้อ 21 และข้อ 22 แห่งระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา และการใช้ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2546 จะต้องมีผู้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว 1 ท่าน ซึ่งได้แก่เจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ เพื่อประเมินราคาไม้ดังกล่าว เอกสารลงชื่อ นายไสว สะอาด ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์
ขณะที่นายอดิศร คงสมกัน หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษป่าไม้กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในส่วนของการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ตนและเจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนป้องกัน ในส่วนพื้นที่เป็นแปลงป่าไม้พื้นที่สาธารณะและป่าสงวนอื่นๆทุกวัน ทุกคืน แต่ช่วงนี้ พบว่ามีการแจ้งเบาะแสคนร้ายลอบตัดไม้หวงห้ามถี่มาก ล่าสุดต้นเดือน ส.ค.66 มีเหตุลอบตัดไม้พะยูงที่ ต.หลักเมือง อ.กมลาไสย คนร้ายได้ไม้ของกลางไป 1 ท่อน ประเมินราคาไม้ที่เหลือมูลค่า 1 ล้านบาท และเมื่อกลางดึกคืนวันที่ 20 ส.ค.66 ที่ผ่านมา มีเหตุคนร้ายไม่ทราบจำนวนลักลอบเข้าไปตัดไม้ในป่าสงวนแห่งชาติดงระแนง รอยต่อ ต.เขาพระนอนกับ ต.คลองขาม ตรวจยึดได้ไม้ของกลางจำนวนหนึ่ง พร้อมจักรยานยนต์ 5 คัน เลื่อยยนต์ 3 เครื่อง รถเข็นไม้ 7 คัน ในขณะผู้ก่อเหตุหลบหนีไปได้
นายอดิศร กล่าวอีกว่า ในส่วนของการตรวจวัดปริมาตรไม้พะยูงในโรงเรียนคำไฮวิทยา เพื่อเทียบเคียงราคาระหว่างกรรมการประเมินก่อนตัดขาย กับการประเมินของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตามเกณฑ์ที่กรมป่าไม้กำหนด ซึ่งเป็นการวัดปริมาตรไม้หลังตัดขายไปแล้ว 17 ต้น และคงเหลือ 5 ต้นกับ 2 ตอ ซึ่งผลออกมาว่าพบว่ามีความแตกต่างกันมาก โดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ประเมินได้ราคา 4,500,000 บาท ขณะที่ทางโรงเรียนขายให้กับพ่อค้าที่มาซื้อไม้ ปรากฏตัวเลขจ่ายตามใบเสร็จเพียง 153,000 บาท ซึ่งหลังจากประเมินพบราคาแตกต่างดังกล่าว จะได้เก็บไว้เป็นหลักฐาน หากพนักงานสอบสวนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการเป็นข้อมูลประกอบคดี