กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้ายุทธศาสตร์ส่งออกเต็มพิกัด รุกเปิดตัวโครงการ “เปิดประตูการค้า สู่ตลาดใหม่” หนุนผู้ประกอบการบุก “เอเชียกลางและนอร์ดิก” ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง ระดมทัพกูรูผู้เชี่ยวชาญถ่ายทอดองค์ความรู้แบบวิเคราะห์เจาะลึก แชร์ประสบการณ์ตรง พร้อมเคล็ดลับความสำเร็จจากผู้ส่งออกมืออาชีพ ยกระดับผู้ประกอบการ ดันสินค้าไทยโกอินเตอร์

นางอารดา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกถือเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ในปี 2566 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มีแผนยุทธศาสตร์ในการผลักดันและอำนวยความสะดวกการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อรักษาตลาดเดิมและเปิดตลาดใหม่เพิ่มเติม ตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะเอเชียกลางและกลุ่มนอร์ดิก ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง แต่ยังมีการค้ากับไทยไม่มากนัก จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทยที่จะขยายการค้าและช่องทางการเข้าสู่ตลาดใหม่ ด้วยการเพิ่มเติมองค์ความรู้ อัปเดตสถานการณ์การค้าที่เป็นปัจจุบันและแนวโน้ม เพื่อพัฒนาสินค้าให้สามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงตลาดต่างประเทศ

โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือ สถาบัน NEA ร่วมกับสำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ 2 ดำเนินโครงการ “เปิดประตูการค้า สู่ตลาดใหม่” (Trade Opportunities in the New Markets) เพื่อสร้างการรับรู้ ความสนใจ และเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไทยในการเข้าสู่ตลาดเอเชียกลางและกลุ่มนอร์ดิก ในรูปแบบงานเสวนาออนไลน์ฟรี! ผ่านระบบ Zoom ในหัวข้อ “คาซัคสถาน : ประตูสู่ตลาดเอเชียกลาง” และ “นอร์ดิก : ตลาดที่ท้าทายสำหรับผู้ส่งออกไทย” โดยมีคณะเอกอัครราชทูต ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ แบ่งปันประสบการณ์ เทคนิคและกลยุทธ์การเจาะตลาด เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน สนับสนุนให้การค้าระหว่างไทยกับตลาดดังกล่าวขยายตัวเพิ่มขึ้น พร้อมขับเคลื่อนการส่งออกไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน 

นางอารดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2566 (ม.ค.-มิ.ย.) การค้ารวมระหว่างไทย-เอเชียกลาง 5 ประเทศ ได้แก่ คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน และคีร์กีซสถาน มีมูลค่า 202.54 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 196.92 โดยเป็นการส่งออก 132.92 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 195.24 และการนำเข้า 69.62 
ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 200.19 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยคาซัคสถานถือเป็นประเทศคู่ค้าที่มีศักยภาพและเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียกลาง นอกจากนี้ คาซัคสถานยังเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปยังเอเชียกลาง 5 อันดับแรก ได้แก่ อากาศยาน ยานอวกาศและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และแผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า

โดย นอร์ดิก เป็นกลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่ในยุโรปตอนเหนือ ประกอบด้วย 5 ประเทศ ได้แก่ เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และไอซ์แลนด์ แม้ว่าจะเป็นตลาดขนาดเล็ก แต่เป็นกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็ง ประชากรมีรายได้เฉลี่ยสูงในอันดับต้น ๆ ของโลก และมีพฤติกรรมเปิดรับสินค้าใหม่ ๆ นิยมสินค้าที่มีนวัตกรรม ดีไซน์แปลกใหม่ รักษ์สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยปี 2566 (ม.ค.-มิ.ย.) การค้ารวมระหว่างไทย-กลุ่มนอร์ดิก มีมูลค่า 1,964.26 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.99 โดยเป็นการส่งออก 778.52 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.37 และการนำเข้า 1,185.75 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.10 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยสวีเดนและเดนมาร์ก ถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย สำหรับสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังกลุ่มนอร์ดิก 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงสวิตช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์ยาง 

“การจัดกิจกรรมเสวนาดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้ประกอบการไทยเห็นถึงศักยภาพและโอกาสของตลาดเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งจะจุดประกายให้เกิดกิจกรรมส่งเสริมการค้าอื่นๆในอนาคต เช่น การจัดคณะผู้แทนการค้าเยือนทั้ง 2 ตลาด (Trade Mission) การเชิญผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนของทั้ง 2 ภูมิภาค เข้าร่วมเจรจาการค้าในงานแสดงสินค้าชั้นนำในประเทศไทย ที่จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เช่น THAIFEX–Anuga Asia ตลอดจนการจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ในกลุ่มสินค้าเป้าหมายของทั้ง 2 ตลาด รวมถึงการพิจารณาจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยในรูปแบบ In-Store Promotion ร่วมกับห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ 
เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์และกระตุ้นความต้องการบริโภคสินค้าไทยของผู้บริโภคท้องถิ่นให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าว