พรรคร่วมฯ ตั้งโต๊ะแถลงจัดตั้งรัฐบาล 11 พรรค 314 เสียง พร้อมจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีลงตัว พท. 17 เก้าอี้ ภท. 8 พปชร.-รทสช. พรรคละ4   อนุทิน อุบเงียบคนนั่งเก้าอี้เสนาบดีพรรค กิตติศักดิ์ ลั่นอภิปรายนายกฯพรุ่งนี้ ดุเดือดเลือดพล่านแน่ ฟันธงเศรษฐา โหวตไม่ผ่าน 

     ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 21 ส.ค.66 นายภูมิธรรม  เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า มาร่วมประชุมพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล  แต่ขอไม่เปิดเผยรายละเอียดการพูดคุย ว่าจะหารือในประเด็นใดบ้าง รวมถึงรายชื่อพรรคร่วมที่จะมาร่วมแถลงข่าวในวันเดียวกันนี้ โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐจะมาร่วมแถลงข่าวในวันนี้ด้วยหรือไม่  ซึ่งขอให้รอฟังการแถลงข่าวในช่วงเวลา 14.00  น. แต่ยืนยันว่าการดีลพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดีไม่มีปัญหา เมื่อถามว่า ยืนยันได้หรือไม่ว่าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน  นายภูมิธรรม  กล่าวยืนยันว่า คือนายเศรษฐาแน่นอน

     
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คาดว่าจะมีการแถลงข่าวร่วมกันของพรรคการเมือง 11 พรรค  ส่วนพรรคพลังประชารัฐจะมาร่วมแถลงข่าวหรือไม่นั้น คงต้องรอความชัดเจน
    
 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คาดว่าจะมีพรรคการเมืองร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 141 เสียง พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคเพื่อไทรวมพลัง  2 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า  2 เสียง พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง พรรคเสรีรวมไทย (สร.) พรรคพลังสังคมใหม่ พรรคท้องที่ไทย พรรคละ 1 เสียง รวมเป็น 314 เสียง อย่างไรก็ตามในเวลา 12.00 น. จะมีการประชุมพรรคร่วม จากนั้นเวลา 14.00 น.จะมีการแถลงข่าวร่วมกัน ที่รัฐสภา

     ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า บรรยากาศที่อาคารรัฐสภา เจ้าหน้าที่ได้นำโต๊ะและเก้าอี้มาจัดเตรียมแถลงข่าว ที่โถงด้านหน้าอาคารฝั่งส.ส. แล้ว เพื่อเตรียมใช้แถลงข่าวกระทั่งเวลา 13.40 น. พรรคร่วมรัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทย ได้เปิดโต๊ะแถลงการณ์จัดตั้งรัฐบาล 11 พรรค จำนวน 314 เสียง โดยไม่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และไม่มีพรรคก้าวไกลเข้าร่วมรัฐบาล ทั้งนี้ ได้มีมติร่วมกันเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทยต่อรัฐสภา เพื่อให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา

     สำหรับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีให้แต่ละพรรคมีดังนี้  พรรคเพื่อไทย ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ 8 กระทรวง รัฐมนตรีช่วยและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีรวม 9 ตำแหน่ง พรรคภูมิใจไทย ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ 4 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 4 ตำแหน่ง พรรคพลังประชารัฐ ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ 2 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 2 ตำแหน่ง พรรครวมไทยสร้างชาติ  ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ 2 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 2 ตำแหน่ง พรรคชาติไทยพัฒนา ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ 1กระทรวง  พรรคประชาชาติ ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ 1 กระทรวง  พรรคอื่นๆ อีกจำนวน 5 พรรค ได้แก่ พรรคชาติพัฒนากล้า 2 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทยรวมพลัง 2 ที่นั่ง  พรรคเสรีรวมไทย 1 ที่นั่ง พรรคท้องที่ไทย 1 ที่นั่ง  พรรคพลังสังคมใหม่ 1 ที่นั่ง

 แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้เชิญหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายของแต่ละพรรคมาตกลงเรื่องการร่วมมือและแบ่งงานกันทำ โดย ทุกพรรคบรรลุข้อตกลงร่วมกันจะนำนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงไว้เป็นนโยบายหลักในการบริหารประเทศ เช่น digital wallet , ที่ดินทำกิน, ขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 600 บาทภายในปี 2570, เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท, เกณฑ์ทหารโดยสมัครใจ, เพิ่มราคาพืชผลเกษตร, แก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้, กัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ และจะแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และยังคงไว้ในส่วนของหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ พรรคร่วมจะนำนโยบายเข้ามาบูรณาการร่วม พร้อมปรับ เสริม หรือประสานนโยบายของ พรรคร่วมรัฐบาล ให้เป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด และนำมาจัดทำเป็นนโยบายร่วมกัน เพื่อแถลงต่อรัฐสภาต่อไป

     พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ขอกราบเรียนว่า ขณะนี้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาสำคัญลำดับแรกที่ต้องเร่งแก้ไขเพราะประชาชนกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ สถานการณ์หนี้สินของครัวเรือน ภาคธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลางได้รับผลกระทบมาแล้วเป็นเวลานาน ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงสร้างและกลไกเพื่อนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศให้กลับคืนมาอีกครั้ง 
   
  พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลตระหนักดีว่าในสถานการณ์ดังกล่าวเราไม่อาจจะทอดเวลาไปมากกว่านี้ หรือจำนนต่อสถานการณ์ขัดแย้งที่ประเทศและประชาชนตกอยู่ในวงล้อมที่เสียโอกาสไปทุกขณะ การตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้อยู่บนฐานความรับผิดชอบต่อประชาชนในสถานการณ์ที่ปัญหาทุกด้านส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องรุนแรง แม้พรรคเพื่อไทยจะเผชิญกับวาทกรรมหรือคำกล่าวหาที่รุนแรงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเรารับรู้ความขัดแย้งดังกล่าวด้วยใจที่เป็นธรรม และตั้งใจมุ่งสู่เป้าหมายที่จะก้าวข้ามความขัดแย้ง ดังนั้นเป้าหมายหลักในวาระนี้คือการเข้ามาร่วมรับผิดชอบในวาระประเทศและวาระของประชาชน
   
  พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะมุ่งมั่นดำเนินการตามนโยบายด้วยการแก้ปัญหาให้กับประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นอย่างรวดเร็ว เราต้องเร่งทำงานเพื่อฟื้นโครงสร้างเศรษฐกิจ กำหนดนโยบายพัฒนามาตรการกลไกเพื่อความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เพื่อดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างสร้างสรรค์ พรรคเพื่อไทยมั่นใจว่า ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ถึงแม้จะมีอดีตพรรคการเมืองในรัฐบาลที่แล้วร่วมรัฐบาล แต่ทุกพรรคจะร่วมกันทำงานกับพรรคเพื่อไทยอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ดังเช่นที่ทุกพรรคการเมืองได้เคยร่วมงานกันมาตั้งแต่สมัยไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลจะใช้โอกาสนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความรักสามัคคีปรองดองของคนในชาติ และจะร่วมกันสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศชาติและประชาชนต่อไป
    
 จากแถลงการณ์และเจตจำนงดังกล่าวข้างต้น เราจึง ขอรับการสนับสนุนจากท่านสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน และทุกพรรคการเมือง มาร่วมกันผลักดันวาระประเทศ เพื่อดำรงความมุ่งหมายที่มุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงของประเทศ และดูแลสถาบันหลักของชาติเป็นสำคัญ ร่วมกันลดเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การขยายความขัดแย้งในประเทศ ร่วมกันพาประเทศไปสู่ความมั่งคั่งและการกินดีอยู่ดีของประชาชน และมีความเป็นประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ขึ้น มุ่งมั่นทำงาน แก้วิฤตการณ์ประเทศ โดยยึดวาระประชาชน
   
  นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังแถลงการณ์การจัดตั้งรัฐบาล 11 พรรค  314 เสียง ซึ่งพรรคภูมิใจไทยได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ 4 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วยว่าการ 4 กระทรวงนั้น พรรคภูมิใจไทยจะได้กระทรวงใดบ้าง ว่า ยัง ต้องรอโปรดเกล้าฯ ก่อน เมื่อถามต่อว่า แต่ในขณะนี้ มีการตกลงกันเรียบร้อยแล้วใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า เอาทีละขั้น เมื่อถามอีกว่ามีกระทรวงเดิมบ้างหรือไม่ นายอนุทินไม่ตอบคำถามนี้ พร้อมเดินไปขึ้นรถออกจากรัฐสภา เพื่อไปประชุมร่วมกับสส.ของพรรคต่อ ณ ที่ทำการพรรคภูมิใจไทย
  
   ด้าน นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 ส.ค.นี้ ว่า ต้องรอดูการแถลงในช่วงบ่ายวันนี้ก่อน ว่าพรรคเพื่อไทยจะส่งชื่อใครเป็นแคนดิเดตนายกฯ ส่วนกรณีที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาระบุ ยืนยันว่า จะส่งชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย เป็นนายกฯนั้น ว่า หากยืนยันว่าเป็นนายเศรษฐาก็พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติตามมาตรา 88 และ 89 รวมถึงมาตรา 160 ด้วย ส่วนตัวขอรอฟังการแถลงข่าวในช่วงบ่ายวันนี้ก่อนว่า ชื่อที่ถูกเสนอจะมีคุณสมบัติอย่างไร มีพฤติกรรมทางจริยธรรมเหมาะสมหรือไม่ พร้อมยืนยันว่า สว.ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 พร้อมมองว่าหากวันนี้นายเศรษฐามาแถลงด้วยก็คงจะดี แต่ก็ไม่รู้ว่านายเศรษฐาจะมาด้วยหรือไม่ เพราะเมื่อครั้งที่แล้ว นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ได้มาแถลงจัดตั้งรัฐบาล เราจะได้รู้รวมถึงเรื่องที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง ตรวจสอบก็ค่อนข้างจะร้ายแรง
    
 นายสมชาย กล่าวว่า  ตนรับฟังทั้งหมด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ เพราะการแถลงข้อมูลให้ประชาชนรับทราบต้องการคำอธิบาย เนื่องจากอาจจะเกิดปัญหาในเรื่องของความซื่อสัตย์สุจริต แต่หากนายเศรษฐาสามารถชี้แจงได้ว่าเรื่องที่นายชูวิทย์กล่าวหานั้น ทั้งในเรื่องของบริษัทนอมินีและกรณีที่แม่บ้านไปซื้อที่ดิน ก็เห็นเพียงเอกสารไปยังไม่ได้รับคำอธิบายที่ชัดเจน เพราะอาจเกี่ยวข้องกับการ ฉ้อราษฎร์บังหลวง หากมีความเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่นต่อประชาชน ถือว่าเป็นการการฉ้อราษฎร์ ส่วน บังหลวง คือการได้ประโยชน์จากรัฐ จึงมองว่าหากชี้แจงส.ว.ในกรณีข้างต้นได้ ส.ว.ก็โหวตให้ผ่านแต่หากชี้แจงไม่ได้ส.ว.ก็ไม่โหวตผ่านให้ 
    
 เมื่อถามว่า มองว่าการที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กลับบ้านในวันเดียวกับที่มีการโหวตนายกฯ เป็นนัยยะอะไรทางการเมืองหรือไม่ นายสมชาย กล่าวยืนยันว่า ไม่มี หากนายทักษิณจะกลับบ้านก็กลับได้อยู่แล้วเพราะเป็นคนไทย ซึ่งที่ผ่านมานายทักษิณก็ออกมาระบุจะกลับบ้านหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่กลับ ยืนยันว่าไม่มีปัญหาอะไร ในสภาก็ว่ากันไป การโหวตนายกฯ ไม่มีผล หากนายทักษิณยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถือว่าเป็นการประนีประนอม เพื่อสลายขั้วอย่างแท้จริง 
   
  เมื่อถามถึงกรณีที่หลายฝ่ายมองว่าแคนดิเดตนายกฯ ตัวจริง จะไม่ใช่นายเศรษฐา แต่เป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นายสมชาย กล่าวว่า เราไม่เคยปฏิเสธว่าพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และตนไม่ได้มีปัญหากับพรรคเพื่อไทย มองว่าพรรคเพื่อไทยจะต้องเสนอแคนดิเดตนายกฯ ทั้งสามคนของพรรคอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นนายเศรษฐา ,น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือนายชัยเกษม นิติศิริ ส่วนตัวจึงมองว่าจะยังไม่ไปไกลถึงขั้นเสนอชื่อพล.อ.ประวิตร แต่หากไม่เสนอแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย ก็จะเหมือนกรณีที่พรรคอนาคตใหม่ เสนอชื่อ นายธนาธรจึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นนายกฯ
    
 นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. กล่าวย้ำถึงจุดยืนในการออกเสียงโหวตนายกฯ ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 22 ส.ค.นี้ จะโหวตเห็นชอบให้นายเศรษฐาหรือไม่ ว่า ต้องย้อนกลับไปถามสื่อมวลชนว่าตอนนี้บรรดานักการเมืองและพรรคการเมือง รวมเสียงได้ครบหรือยัง ส่วนจะโหวตนายกฯ อย่างไรนั้น  ก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละฝ่าย แต่ตนมีมติในใจอยู่แล้ว  ส.ว.มี 250 คน หรือ 248-249 คน แม้จะมีคำตอบในใจแล้ว ก็ต้องฟังเสียงของ ส.ว. ส่วนใหญ่
      
 "กิตติศักดิ์ก็ใจอ่อน เพราะว่าตรงไปตรงมาอยู่แล้ว ดูจากสภาพในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมของนายเศรษฐา แล้ว ฟันธงว่าไม่ผ่าน กิตติศักดิ์ไม่โหวตให้เศรษฐา"
    
 นายกิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในภาพรวม หากว่ารวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้เรียบร้อยแล้ว อาจจะมองว่าเพื่อให้บ้านเมืองเดินไปได้ หรืออะไรก็ตาม อย่างน้อยนายกิตติศักดิ์ 1 เสียงไม่โหวต ให้นายเศรษฐา ส่วนท่านอื่นๆ ก็รอดูพรุ่งนี้แล้วกัน เมื่อถามว่า หากพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนตัวแคนดิเดตนายกฯ เป็น น.ส.แพทองธาร นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ก็ต้องตรวจสอบมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรมเหมือนกัน โดยเห็นว่าน.ส.แพทองธารเพิ่งเข้าสู่การเมือง อาจยังไม่มีปมด้อยมากนัก ดังนั้น เพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ ส่วนตัวก็จะโหวตให้
   
  เมื่อถามถึงกรณีที่เคยฟันธงไว้ว่านายกฯจะไม่ได้มาจากพรรคเพื่อไทย แต่อาจเป็น นายอนุทินจากพรรคภูมิใจไทย หรือพล.อ.ประวิตรจากพรรคพลังประชารัฐนั้น