สถาบัน RILA อบจ.ระยอง จับมือ สวทช.และ EECi เปิดโครงการสร้างนักสื่อสารเพื่อการสร้างนวัตกรรมผู้ดูแลระบบอัจฉริยะ จับนักเรียนพื้นที่นำร่อง EECi นำเสนอผลสําเร็จของการเรียนรู้นําเทคโนโลยีระบบเกษตรอัจฉริยะสมัยใหม่ มุ่งถ่ายทอดต่อยอดการเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณชน
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 21 ส.ค.66 ที่ห้อง Auditorium เขตพัฒนานวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) วังจันทร์วัลเล่ย์ ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง นายมนตรี ชนะชัยวิบูลวัฒน์ ที่ปรึกษานายก อบจ.ระยอง เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรม “วัน Pitching Day” ของโครงการสร้างนักสื่อสารเพื่อการสร้างนวัตกรรมผู้ดูแลระบบอัจฉริยะ ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของสํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง(อบจ.ระยอง)กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาระยอง สถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยจังหวัดระยอง(สถาบัน RILA) เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EECi)และพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง จัดขึ้น โดยมี น.ส.ปิยะฉัตร ใคร้วานิช เบอร์ทัน ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาพื้นที่และกำลังคน สวทช.ร่วมเป็นเกียรติฯ โดยมีนักเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย โรงเรียนวังจันทร์วิทยา โรงเรียนวิบูลวิทยา โรงเรียนมกุฎเมืองราชวิทยาลัย โรงเรียนชํานาญสามัคคีวิทยา โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ระยอง และโรงเรียนวัดป่ายุบ โดยให้นักเรียนได้นำเสนอผลสําเร็จของการเรียนรู้นําเทคโนโลยี Handy Sense นวัตกรรมระบบเกษตรอัจฉริยะต่อสาธารณชน พร้อมกับถอดบทเรียนเพื่อการเรียนรู้และต่อยอดพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชน ซึ่งแต่ละทีมดังกล่าวเป็นทีมของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ครูและเกษตรกรในสถานศึกษานําร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ที่สมัครเข้ามาเพื่อเรียนรู้และนําระบบ Handy Sense ไปใช้ในสวนของเกษตรกร
ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนานักเรียน ครูผู้ประกอบการ (เกษตรกร)ให้มีสมรรถนะด้าน Digital Literacy ในการเรียนรู้ชีวิตและทํางานที่ทันต่อเทคโนโลยีอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve)เพื่อสร้างกลุ่มเป้าหมายให้มีสมรรถนะถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมอุตสาหกรรม และเพื่อลดความเหลื่อมลําทางการศึกษาและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของคนในพื้นที่
สำหรับการดําเนินงานของโครงการดังดล่าว นับว่าเป็นนวัตกรรมชิ้นสำคัญของภาคส่วนต่างๆ ที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ของนักเรียนในสถานศึกษานําร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยการทําให้นักเรียนได้เรียนรู้ในสิ่งที่จําเป็นต่อการดําเนินชีวิต การถ่ายทอดและการสื่อสารเทคโนโลยีไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างกว้างขวางและเป็นฐานในการก้าวสู่การใช้เทคโนโลยีใหม่ต่อไป