วันที่ 21 สิงหาคม 2566 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 18/2566 ว่า วันที่ 31 ส.ค.66 จะเป็นวันสุดท้ายของการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หลังเที่ยงคืนของวันที่ 31 ส.ค.เป็นต้นไป จะมีค่าปรับ 10% และค่าเงินเพิ่ม หรือดอกเบี้ยที่เกิดจากการชำระภาษีล่าช้าเกินกว่าเวลาที่กำหนดอีก 10% ต่อเดือน ซึ่งค่าปรับ 10% จะมีจดหมายเตือนประมาณกลางเดือนก.ย. พอจดหมายเตือนออกค่าปรับจะเพิ่มเป็น 20% พร้อมกำหนดวันชำระ หากพ้นกำหนดยังไม่มาชำระค่าปรับจะเพิ่มเป็น 40% ส่วนเงินเพิ่มจะปรับเพิ่มเป็น 2% สุดท้ายแล้วอาจจะต้องจ่ายค่าปรับกว่า 42% จึงอยากให้ทุกคนมาช่วยจ่ายภาษีกัน 

นายชัชชาติ กล่าวว่า เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา กทม. ได้ส่งจดหมายแจ้งเตือนประชาชนไปชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไปแล้วประมาณ 1 ล้านราย มีประชาชนมาจ่ายภาษีแล้ว 600,000 ราย คาดว่าภายในวันที่ 31 ส.ค. จะได้เงินจากการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 13,000 ล้านบาท หากประชาชนที่มีอาคาร มีที่ดิน มีสิ่งปลูกสร้าง ยังไม่ได้รับจดหมาย ขอให้ไปที่เขตทันที อย่ารีรอ การจ่ายภาษีทำได้ 3 ทาง 1.มาจ่ายที่เขตได้เลย 2.จ่ายผ่านธนาคารกรุงไทยทุกสาขา 3.จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน Mobile Banking ขอให้ทุกคนช่วยกันจ่ายภาษี เพราะเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนากรุงเทพฯ

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ขณะนี้กทม. สามารถจัดเก็บรายได้ถึง 79,458 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 101 เกินเป้าที่ตั้งไว้ 79,000 ล้านบาท คาดว่าปีนี้จะสามารถจัดเก็บรายได้ 90,000 ล้านบาท ส่วนที่เกินมา จะเอาไปใช้ไม่ได้ ต้องนำไปไว้เป็นเงินสะสม ซึ่งปัจจุบันมีเงินสะสมปลอดภาระผูกพัน จำนวน 30,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม รายได้ที่เพิ่มขึ้นมา กทม.จะเก็บไว้เพื่อชำระหนี้ต่าง ๆ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นต้น

ขณะเดียวกัน กทม.จะทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (เอ็มโอยู) กับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในวันที่ 24 ส.ค.นี้ เพื่อติดตามเร่งรัดผู้ที่ค้างชำระภาษีรถยนต์ประจำปี หากไม่มาชำระภาษีรถยนต์ย้อนหลัง 3 ปี ขบ. จะระงับทะเบียนทันที โดยคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 1,000 ล้านบาท ส่วนรายละเอียดขั้นตอน มอบให้สำนักการคลัง (สนค.) หารือ ขบ. ในการจัดทำวิธีการติดตามเร่งรัดว่าจะใช้วิธีการใด แต่เบื้องต้นคาดว่าจะส่งจดหมายไปพร้อมกับการแจ้งชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง