เมื่อเวลา 09.20 น. วันที่ 21 ส.ค. 66 ที่รัฐสภา นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบคุณสมบัติของนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย (พท.) ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ว่า ในส่วนของกมธ. ได้รับเรื่องจากนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ  สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งกมธ.ได้ขอเอกสารจากเจ้าหน้าที่ที่ดิน และในวันนี้จะมาพิจารณากันอีกครั้ง 

เมื่อถามว่า แสดงว่าเราไม่สามารถตรวจสอบให้เสร็จทันภายในวันที่ 22 ส.ค.ใช่หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ต้องดูตามข้อกฎหมายว่า การกระทำผิดข้อกฎหมายหรือไม่ แต่ถ้าเป็นเรื่องของภาษีอากรต้องนำเจ้าหน้าที่สรรพากรเข้ามา อย่าไปกังวล และอย่าเป็นห่วงในเรื่องนี้ เพราะต้องพิจารณาหลายเรื่อง

เมื่อถามว่า การพิจารณาในหลายๆ เรื่องที่ประกอบการพิจารณาความเห็นแสดงว่ายังมีผลต่อวันเลือกนายกรัฐมนตรีใช่หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า มีแน่นอน เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของพฤติกรรมก่อนหน้าที่จะได้พิจารณาเรื่องคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ถึงบุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคงต้องดูเรื่องที่ผ่านมา รวมถึงดูหลายๆ เรื่องที่ปรากฏ

เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่า ในวันที่ 22 ส.ค. สว.อาจจะยังไม่ให้ความเห็นชอบนายเศรษฐาหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ช่วงนี้คงมีความเห็นที่หลากหลาย และหลายคนคงดูจากข้อมูลที่ตนเองได้รับมา แต่อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าในการตัดสินใจต้องดูในวันประชุมรัฐสภา ไม่ใช่เฉพาะเรื่องที่จะมาบอกว่าใครเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ซึ่งยังมีประเด็นว่าสุดท้ายแล้ววันพรุ่งนี้จะส่งชื่อใครกันแน่ แต่ในเบื้องต้นเข้าใจว่าเป็นนายเศรษฐาอยู่แล้ว 

เมื่อถามว่า พรุ่งนี้คาดว่าจะได้ตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ตอบไม่ได้ เพราะยังไม่รู้ว่าจะเสนอชื่อใครเข้ามา และมติในที่ประชุมจะว่าอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคที่จะไปจัดตั้งรัฐบาลกัน ตกลงกันได้ชัดเจนหรือยัง ฉะนั้นมจึงไม่ใช่แค่เสียงของ สว.ซึ่งเป็นเรื่องการลงคะแนนของทั้งสส. และสว. ดังนั้น คะแนนที่จะได้รับต้องรวมทั้ง2 สภา

เมื่อถามว่า เงื่อนไขที่จะทำให้ สว.ลงมติให้กับบุคคลที่ถูกเสนอชื่อในวันที่ 22 ส.ค.นี้ มีการตั้งเกณฑ์อะไรไว้บ้างหรือไม่นายเสรี กล่าวว่า ตนคิดว่าเรื่องที่สำคัญจะมี 2 ส่วนใหญ่ๆ เรื่องที่ 1 คือเรื่องแนวนโยบาย หรือทิศทางของการจะไปบริหารประเทศว่า หากเป็นนายกฯรัฐมนตรีแล้วในรัฐบาลชุดนี้ จะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 หมวด 2 เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ เพราะ สว.ก็ยึดหลักในเรื่องเหล่านี้ โดยวินิจฉัยตัดสินใจไม่เห็นชอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลในเรื่องเหล่านี้มาแล้ว ฉะนั้น พรรคการเมืองที่มาตั้งรัฐบาลนั้นต้องตกลงกันให้ดี เพราะจากที่บอกว่าจะตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กลายเป็นเสนอว่าทำทั้งฉบับ ซึ่งก็จะเป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้น หากมีการเลือกสสร. ก็เห็นอยู่แล้วว่าจะเป็นกลุ่มไหนที่จะเข้ามาทำรัฐธรรมนูญ และเห็นอยู่แล้วว่ากลุ่มที่จะเข้าแก้รัฐธรรมนูญนั้น มีจุดประสงค์อะไรก็ตามในการที่จะรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันองค์กรต่างๆ หรือเรื่องของความมั่นคง จะกลายเป็นเรื่องสำคัญ ตนคิดว่า สว.จะพิจารณาในเรื่องเหล่านี้ และอีกเรื่องหนึ่งคือคุณสมบัติลักษณะต้องห้าม มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่ รวมถึงเรื่องจริยธรรม ดังนั้น เรื่องทั้งหมดนี้จะอยู่ในการพิจารณา

เมื่อถามว่า นายเสรีมีมติในใจในวันโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 ส.ค.แล้วหรือยัง นายเสรี กล่าวว่า ยัง ตนคิดว่าเราต้องทำด้วยเหตุผล และดูข้อมูล เราก็อยากให้นายเศรษฐาตอบ แต่พรรคเพื่อไทยแถลงว่าไม่ให้เข้ามา แม้ว่าในข้อบังคับจะไม่ได้กำหนดเอาไว้ว่า บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อต้องมาแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่ แต่ในเรื่องของการเข้ามาแถลงในที่ประชุมรัฐสภา เป็นเรื่องปกติทั่วไปที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้ว่า หากมีบุคคลนอกที่ไม่ใช่สมาชิกก็สามารถเข้ามาในที่ประชุมได้ โดยได้รับการอนุญาตจากประธานรัฐสภา และขึ้นอยู่กับพรรคที่เสนอชื่อ และตัวที่ได้รับการเสนอชื่อมีความประสงค์ที่จะแถลงในที่ประชุมรัฐสภาหรือไม่ เพราะหากแถลงจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะสามารถตอบข้อครหาหรือข้อสงสัยในทุกเรื่อง แต่ถ้าไม่มาเองก็เป็นสิทธิ ไปบังคับไม่ได้