อลังการตระการตาจริงๆสำหรับโค้งสุดท้ายการประกวด “มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2023” (Miss Universe Thailand 2023) พิเศษกับการแข่งขัน “รอบชุดประจำชาติ” (National Costume) เมื่อค่ำคืนวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา โดย 10 ชุด ชุดประจำชาติ ที่ผ่านการคัดเลือกให้เป็นผู้ท้าชิงตัวแทนชุดประจำชาติไทย สำหรับการประกวดระดับจักรวาลครั้งที่ 72 ที่ประเทศเอลซัลวาดอร์ ได้แก่  

1. MUT48 เชอร์รี่ จรรยา ต้นงาม จังหวัดมหาสารคาม ชุด "นบเถิงแถน"

ออกแบบโดย : ธีรวัฒน์ เจียงคำ

แรงบันดาลใจ : เซิ้งบั้งไฟ ความเชื่อจากทั้ง ศาสนาผี และศาสนาพุทธ จากพหุวัฒนธรรม ในสังคมกสิกรรม ผ่านการจ่ายกาพย์เซิ้ง โดยสตรีผู้นำจ่ายกาพย์ สะท้อนภาพ ความเชื่อแบบมาตาธิปไตย ในสังคมอีสาน ที่ยกย่องสตรีเป็นผู้ยิ่งใหญ่ มีหน้าที่เป็นผู้สื่อสารกับ ไท้ แถน ผี และทวยเทพยดา อันเหนือขึ้นไปกว่าโลกและมนุษย์ สู่การสร้างสรรค์ เครื่องแต่งกายประจำชาติ

2. MUT04 วีนา ปวีนา สิงห์ทักวาล จังหวัดภูเก็ต ชุด "บุปผาราชินีศรีศิวาลัย"

ออกแบบโดย : ดร.สรรค์ สุดเกตุ (ห้องเสื้อวนัชกูตูร์)

แรงบันดาลใจ : มาจากดอกไม้ที่งดงามที่มีนามตามพระนามาภิไธย “สิริกิติ์” ดอกไม้นามพระราชทาน และดอกไม้ทรงโปรดของสมเด็จพระพันปีหลวง หรือเรียกว่า “บุปผาราชินี” นำมาผสมผสานกับ ”ชุดไทยศิวาลัย” หนึ่งในชุดไทยพระราชนิยมที่พระองค์ทรงเป็นผู้ริเริ่ม

3. MUT25 น้ำอิง สุทธิดา เอียดปู จังหวัดนครศรีธรรมราช ชุด "นครหัตถศิลป์"

ออกแบบโดย : ธีรภัทร คชพันธ์

แรงบันดาลใจ : ย่านลิเภา หัตถศิลป์ชั้นสูงที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับมาตั้งแต่อดีตนำมานำเสนอถ่ายทอดผ่านชุดประจำชาติไทย ผสมผสานเข้ากับชุดไทยดุสิตและแฟชั่นตามยุคสมัย เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์อันดีให้กับจังหวัดนครศรีธรรมราช ดังที่ว่า นครหัตถศิลป์

4. MUT47 กรองทอง กรองทอง จันทรสมโภช จังหวัดพิษณุโลก ชุด "โสกันต์"

ออกแบบโดย : ชวัญชัย อรชร

แรงบันดาลใจ : จากเครื่องทรงในพระราชพิธีโสกันต์ หรือพิธีโกนจุกของพระราชวงศ์ ที่จะมีการแต่งกายผู้เข้าพิธีด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์อย่างเต็มที่ตามธรรมเนียมโบราณ

5. MUT21 โบอิ้ง ธัญญ์นภัส มงคล จังหวัดสกลนคร ชุด "Kram Silk Sivali"

ออกแบบโดย : นะกะวี ด่านลาพล

แรงบันดาลใจ : ไหมและฝ้ายย้อมครามธรรมชาติ คุณค่าหัตถศิลป์สกลนคร 6 เฉดสีนำเสนอเทคนิคผ่าน โครงชุดอันโดดเด่นแบบสมัยรัชกาลที่5 ออกแบบ รังสรรค์ โดยชาวสกลนครทั้งหมด

6. MUT31 แอน แอนโทเนีย โพซิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ชุด "อโยธยาอมรานิรมิต"

ออกแบบโดย : ภูษาผ้าลายอย่าง โดย อาจารย์ธนิต พุ่มไสว และคุณศิวกร เกษรราช

แรงบันดาลใจ : ความงามของสตรีสูงศักดิ์สมัยอยุธยาตอนปลาย ถ่ายทอดผ่านงานหัตถศิลป์ไทย ฝีมือคนรุ่นใหม่ ใช้สีส้มประจำจังหวัดนครราชสีมา เป็นโทนสีหลัก นำดอกสาธรดอกไม้ประจำจังหวัด ออกแบบเป็นลายผ้าเขียนทอง “ลายสร้อยผกาสาธร” เขียนด้วยยางมะเดื่อปิดทองคำแท้ทั้งผืน นับเป็นภาพสะท้อนอดีต เพื่อรักษาให้งานศิลป์แผ่นดินได้สืบทอดชั่วลูกสืบหลาน

7. MUT17 เคธี่ แคทริน่า ลลิตา คอสทรูคอฟฟ์ จังหวัดกาญจนบุรี ชุด "กาญจนเบญพาด"

ออกแบบโดย : ธีร์ ผาสุก

แรงบันดาลใจ : มาจากการถักธงใยแมงมุม ของประเพณียกธงสงกรานต์บ้านเบญพาด อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ชาวบ้านจะมาช่วยกันทำธงเพื่อไปถวายวัด นอกจากความสนุกสนาน ของประเพณียังแฝงคติและความเชื่อ ได้นำโครงสร้างของชุดไทยราชนิยมมาเป็นต้นแบบและใช้ธงใยแมงมุมกว่า 500 ชิ้น และตกแต่งด้วยSwarovski สร้างความระยิบระยับจนเกิดเป็นผลงานชื่อ “กาญจนเบญพาด” 

8. MUT18 พิ้งกี้ กรรณิการ์ เสงี่ยมงาม จังหวัดลพบุรี ชุด "อรุณราชนารี สตรีศรีสยาม"

ออกแบบโดย : วิษณุ ผลบุญ โดยร้าน PN Wedding ศรีสะเกษ

แรงบันดาลใจ : แสงประกายยามรุ่งอรุณแห่งเมืองสยาม สาดส่องเจิดจรัสกระทบผืนน้ำเจ้าพระยา ที่ตั้งตระหง่านชวนให้หลงใหลผ่านกาลเวลามานับร้อยปี จึงได้หยิบยกเอาเเสงเช้าของอรุณรุ่ง พร้อมด้วยลวดลายอันวิจิตร มาทำเป็นชุดไทยศิวาลัยที่บ่งบอกถึงความเป็นไทยของสตรีศรีสยาม

9. MUT20 แจ๊สซี่ กิระนา จัสมิน ชูว์เทอร์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ชุด "THE KIRANA"

ออกแบบโดย : ประภากาศ อังศุสิงห์

แรงบันดาลใจ :The Kirana คือการออกแบบเครื่องแต่งกายที่ผสมผสานความร่วมสมัยและความวิจิตรงดงามของชุดไทยศิวาลัยได้อย่างลงตัวรายละเอียดการตกแต่งของชุดและโทนสียังเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึง ความเขียวขจี ความยิ่งใหญ่ของขุนเขาที่โอบล้อม จังหวัดแม่ฮ่องสอน กลิ่นอายของเครื่องแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์มาประกอบทำให้ ชุด the kirana สมบูรณ์แบบและสง่างามเป็นอย่างยิ่ง

10. MUT27 นลิน ฉัตร์ณลิณ โชติจิรวราฉัตร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุด " เทวสตรี ศรีอโยธยา"

ออกแบบโดย : กมลรส ทูลภิรมย์ ห้องเสื้อ ทรงเสน่ห์ผ้าลายอย่าง

แรงบันดาลใจ : ได้แรงบันดาลใจจากเทวรูปสัมฤทธิ์พระธรณี และเครื่องทรงพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยาตัวโครงชุดประดิษฐ์จากงานหัตถกรรมดิ้นสอดลวด ประดับด้วยหินธรรมชาติแท้ ให้สอดคล้องกับหลักธรณีวิทยา และผ้าลายอย่างเขียนลวดลายในยุคนั้น