การยางแห่งประเทศไทย ( กยท.) ยกระดับตลาดยางพาราสู่ Digital Platform จัดการประมูลซื้อขาย ผ่านระบบ “Thai Rubber Trade” เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระดับโลก เชื่อมโยงข้อมูลซื้อขายยางผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของยาง รองรับมาตรการ EUDR โดยนำเทคโนโลยี Block Chain เข้ามาช่วยในการพัฒนาระบบให้สามารถตรวจสอบการโอนเงิน ลดความเสี่ยงการปลอมแปลงบัญชี และจัดทำสัญญาต่างๆ ด้วย Smart Contact
นายศุภชัย แข่งขัน ผู้อำนวยการ สำนักงานตลาดกลางยางพารา จ.เชียงราย กล่าวว่า สำนักงานตลาดกลางฯ แห่งนี้ ถือเป็นศูนย์กลางในการประมูลยางพาราในเขตภาคเหนือ มีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุม 15 จังหวัด โดยนำผลผลิตของเกษตรกรชาวสวนยางเข้ามาประมูลซื้อขายผ่านระบบ Thai Rubber Trade (TRT) ปัจจุบันมีสมาชิกผู้ขาย หรือตลาดเครือข่าย รวม 253 กลุ่ม จำนวน 22,910 ราย และมีผู้ซื้อ หรือผู้ประกอบกิจการ จำนวน 66 ราย โดยในปี 2566 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 - สิงหาคม 2566 มีปริมาณยางที่ประมูลผ่านระบบ 25,205 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 564 ล้านบาท
โดยวิธีการประมูลซื้อขายยางพาราของพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ผ่านระบบ Thai Rubber Trade แบ่งออกเป็น 3 รอบ ดังนี้ รอบที่ 1 เวลา 11.00-11.15 น./ รอบที่ 2 เวลา 11.30-11.45 น. (กรณีไม่มีผู้ประมูลในรอบที่ 1) และรอบที่ 3 ผ่าน LINE (กรณีไม่มีผู้ประมูลในรอบที่ 1 และ 2) ส่วนภาคเหนือตอนล่าง จะแบ่งออกเป็นรอบละ 5 นาที ตั้งแต่ 11.20 น. เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ก่อนวันประมูลผู้ขายต้องแจ้งรายละเอียดและลักษณะของยางแก่เจ้าหน้าที่ตลาดกลางฯ เพื่อจัดทำตารางประมูลรายสัปดาห์ และแจ้งให้ผู้ซื้อทราบ เมื่อถึงวันประมูล ต้องมีการยืนยันปริมาณยางให้ผู้ซื้อทราบอีกครั้ง โดยมีเจ้าหน้าที่ตลาดกลางฯ กำหนดราคากลางร่วมกับกลุ่มผู้ขาย ซึ่งอ้างอิงราคากลางที่ประกาศของ กยท. ต่อมาผู้ซื้อเข้าสู่ระบบ TRT เพื่อเตรียมประมูลยางพารา เลือกตลาดกลางที่ต้องการประมูล ชนิดยาง และรอบการประมูล โดยผู้ซื้อสามารถดูรายละเอียดสินค้า ปริมาณ ราคากลาง และภาพถ่ายสินค้า ก่อนเริ่มประมูลได้
เมื่อถึงเวลาประมูล ผู้ซื้อจะต้องใส่ราคาที่ต้องการซื้อและยื่นประมูลภายในเวลาที่กำหนด และเมื่อหมดรอบประมูล ผู้ซื้อสามารถดูภาพรวมการประมูลได้ ซึ่งระบบจะแสดงรายละเอียดว่าผู้ซื้อรายใดชนะการประมูล และแสดงราคาที่ผู้ซื้อรายอื่นยื่นประมูล (แต่ไม่ระบุชื่อของผู้ซื้อรายอื่น) โดยเจ้าหน้าที่ตลาดกลางฯ จะประกาศผู้ชนะการประมูลยาง เวลา 15.30 น. ของทุกวันที่มีการประมูล ผ่านช่องทาง Facebook Page และ LINE ของตลาดกลางฯ
อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตลาดกลางฯ จะดำเนินการเรียกเก็บเงินมัดจำค่ายาง 10% จากผู้ซื้อภายในวันประมูล หรือวันถัดจากวันประมูล ซึ่งผู้ซื้อโอนเงินมัดจำให้ผู้ขายโดยตรงก่อนถึงวันส่งมอบ และเข้าระบบ TRT เพื่อทำการยืนยันชำระเงิน จากนั้นเจ้าหน้าที่การเงินจะตรวจสอบความถูกต้องและอนุมัติการชำระเงินมัดจำยาง ต่อมาเจ้าหน้าที่ตลาดจะบันทึกรายละเอียดการส่งมอบยาง (ชื่อกลุ่มผู้ขาย สินค้า น้ำหนักยางประมาณการ) และนัดหมายวันเวลาการส่งมอบยางกับทางผู้ซื้อ
ขณะเดียวกันในวันส่งมอบยาง เจ้าหน้าที่ตลาดกลางฯ จะลงพื้นที่ติดตามการส่งมอบยางของแต่ละกลุ่ม โดยกลุ่มผู้ขายจะต้องชั่งน้ำหนักยางและบันทึกข้อมูลยางของเกษตรกรแต่ละราย นำยางขึ้นสายพานลงรถบรรทุกให้ผู้ซื้อ ส่วนผู้ซื้อก็ชำระเงินค่ายางส่วนที่เหลือให้กับผู้ขาย และบันทึกการชำระเงินในระบบ TRT อีกครั้ง เพื่อให้เจ้าหน้าที่การเงินตรวจสอบและอนุมัติการชำระเงิน พร้อมทั้งเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตลาด
ด้าน นายเกียรตินันท์ ยิ้นซ้อน ผอ.กยท.จ.เชียงราย ให้คำแนะนำถึงกระบวนการรวบรวมและจัดการระบบซื้อขายยางก้อนถ้วย ผ่านตลาดกลาง กยท. ของพื้นที่ภาคเหนือตอนบน นั่นคือ สหกรณ์ยางพาราแม่ลาว- แม่กรณ์ จำกัด ซึ่งเป็นสหกรณ์ที่ให้ความสำคัญในการจัดทำทะเบียนข้อมูลอย่างเป็นระบบ โดยต้องมีข้อมูลสมาชิก อาทิ เลขทะเบียนเกษตรกรฯ ที่อยู่ ที่ตั้งสวนยาง พื้นที่สวนยาง รวมถึงมีข้อมูลผลผลิตยางที่ขายผ่านสหกรณ์ เช่น น้ำหนักยางที่นำมาขายในแต่ละล็อต ราคาขายต่อกิโลกรัม ราคารวม เป็นต้น
สหกรณ์ฯ มีการจัดเก็บข้อมูลและรวบรวมผลผลิตของสมาชิกแต่ละรายเป็นระบบอย่างชัดเจน จึงเช็กได้ว่ายางแต่ละล็อตที่ขายมาจากสมาชิกรายใด เมื่อเทียบกับข้อมูลขึ้นทะเบียนเกษตรกรฯ ของ กยท. จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของยางได้
“กยท. และสหกรณ์ฯ ได้ร่วมบูรณาการข้อมูลเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์ และขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง กับ กยท. ซึ่งข้อมูลชุดนี้จะเป็นฐานข้อมูลเพื่อตรวจสอบถึงแหล่งที่มาของผลผลิตยาง ย้อนกลับไปจนถึงเกษตรกรเจ้าของสวนยางและแปลงที่ตั้งสวนยางได้ รองรับมาตรการตรวจสอบย้อนกลับของกลุ่มประเทศผู้ซื้อยางที่ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม” ผอ.กยท.จ.เชียงราย กล่าว
นายประชา เป็งนวล ประธานกรรมการ สหกรณ์ยางพาราแม่ลาวแม่กรณ์ เผยความรู้สึกบรรยากาศการส่งมอบยาง เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ว่า นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ของสหกรณ์เล็กๆ แห่งนี้ที่ได้เติบโตขึ้น วันนี้ดีใจที่สหกรณ์ฯ ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วหลังการสนับสนุนจากการยางแห่งประเทศไทยเสมอมา โดยในวันนี้สหกรณ์ฯ มียางก้อนถ้วย จำหน่ายกว่า 60 ตัน ที่ต้องส่งมอบให้กับผู้ซื้อ จากระบบ Thai Rubber Trade คิดเป็นเงินประมาณ 1.4 ล้านบาท ณ วันประมูลราคาที่ 23.70
“หลังจากการยางแห่งประเทศไทยเข้ามามอบองค์ความรู้และผลักดันให้เกษตรกรหันมาปลูกต้นยาง เดิมทีอาชีพปลูกและกรีดยางเป็นเพียงอาชีพเสริมของชาวบ้านบริเวณนี้ ทว่าหลังจากได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งยังนำแพลตฟอร์ม Thai Rubber Trade เข้ามาพลิกโฉมตลาดยางที่จังหวัดเชียงรายไปโดยปริยาย จากเดิมที่เคยซื้อขายผ่านพ่อค้าคนกลาง เปลี่ยนสู่การซื้อขายเองโดยตรงระหว่างสหกรณ์กับผู้ซื้อ โดยมีตลาดเป็นผู้กำหนดราคา ทำให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น จนสามารถกลายเป็นอาชีพหลักเลี้ยงดูครอบครัวได้ดีกว่าเดิม”