“ทำไมวิทยาศาสตร์ดูเข้าใจยากไปหมด” เชื่อว่าปัญหานี้เป็นกำแพงปิดกั้นการเรียนรู้ของเด็กไทยหลายๆ คน บางคนเลี่ยงวิชาวิทยาศาสตร์ด้วยการเลือกเรียนแผนการเรียนศิลป์คำนวณ ศิลป์ภาษา หรือวิชาชีพ เพราะพวกเขาฝังใจว่าวิชาวิทยาศาสตร์เรียนยาก หนัก และไกลตัว แต่รู้หรือไม่ว่า วิทยาศาสตร์สำคัญและเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันมากกว่าที่คิด จะเป็นไปได้ไหมถ้าเราจะทลายกำแพงที่ปิดกั้นการเรียนรู้ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เปิดใจเรียนรู้วิทยาศาสตร์มากขึ้น   

สิ่งที่ท้าทายสำหรับแวดวงการศึกษา คือ จะทำอย่างไรให้บรรยากาศการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ตอบโจทย์กับนักเรียนทุกคน กระตุ้นให้เยาวชนเล็งเห็นความสำคัญ และมองว่าการเรียนรู้วิทยาศาสตร์มีประโยชน์สำหรับทุกคน เพราะเราทุกคนต้องอาศัยวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการพลังงาน ยานพาหนะ สุขภาวะ หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกต่างๆ นอกจากนี้เรายังสามารถนำแนวคิดวิทยาศาสตร์มาแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และยังทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม และโซลูชันใหม่ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่มนุษย์อย่างไม่หยุดยั้ง  

กว่า 18 ปีที่ บ้านปู ได้ร่วมมือกับ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดโครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ‘เพาเวอร์กรีน’ (Power Green Camp) เพื่อสร้างห้องเรียนวิทยาศาสตร์ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ โดยในช่วงเริ่มต้น โครงการฯ เปิดรับเฉพาะนักเรียนในแผนการเรียนวิทยาศาสตร์ ก่อนที่ในระยะหลังจะขยายผลมาเปิดรับเยาวชนจากทุก ๆ แผนการเรียน เพื่อให้พวกเขาได้ลองเปิดใจเรียนรู้วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมอย่างสนุกและได้สาระความรู้ไปพร้อมๆ กัน  

มุมมองของ 3 เยาวชนหัวศิลป์ที่ก้าวข้าม “ความยากของวิชาวิทยาศาสตร์” มาเปิดประสบการณ์ในค่ายวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม‘เพาเวอร์กรีน’ 

 ณัฐริกา แก่นทน

นางสาว ณัฐริกา แก่นทน ปัจจุบันเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า “หนูมีความถนัดทางด้านภาษามากกว่าวิทยาศาตร์ และมองว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยาก แต่หนูไม่สามารถทิ้งวิชานี้ได้ หนูจึงมองหาโอกาสให้ตัวเองได้คลุกคลีกับสายวิชานี้ ก่อนสมัครค่ายฯ ก็กลัวจะไม่เข้าใจ ตามเพื่อนไม่ทัน แต่พอได้รับคัดเลือกมาเข้าร่วมก็กลับพบว่า ในค่ายฯ มีเด็กที่เรียนสายศิลป์เยอะมาก และมีหลายกิจกรรมที่เปิดประสบการณ์ให้เรียนรู้ในมุมมองใหม่ๆ ค่ายนี้ทำให้การเดินป่า การเข้าถ้ำ เป็นการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ มีความรู้กลับออกมา ได้เห็นความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ได้รู้ว่าถ้ำเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพภูมิอากาศ ได้เก็บก้อนหิน น้ำ ดิน ไปศึกษาเชิงลึกในห้องแล็บ วันที่ได้สวมเสื้อกาวน์ ได้หยิบจับอุปกรณ์และสารเคมีทดลองทางวิทยาศาสตร์ หนูรู้สึกว่าตัวเองเท่มากๆ เหมือนได้เป็นนักวิทยาศาสตร์จริงๆ ทุกกิจกรรมทำให้รู้สึกว่าการเรียนวิทยาศาสตร์สนุกกว่าที่คิดมาก ๆ  ถ้าตอนนั้นไม่สมัครมา คงจะเสียดายมาก ๆ ค่ะ” 

ภคพล เพชรสงฆ์

นายภคพล เพชรสงฆ์ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แผนการเรียน แผนศิลป์ – คำนวณ โรงเรียนพิชัยรัตนาคาร จังหวัดระนอง เล่าว่า “ผมมองว่าวิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่น่าตื่นเต้นและน่าค้นหา ทำให้รู้ว่าโลกยังมีอะไรหลายอย่างที่เรายังไม่ได้เรียนรู้ และเราสามารถเข้าใจวิทยาศาสตร์ได้จากประสบการณ์ตรงและการลงมือทำ การเข้าค่ายเพาเวอร์กรีนเป็นประสบการณ์ที่ผมประทับใจมาก การเรียนรู้ของค่ายฯ แตกต่างจากการเรียนรู้ในห้องเรียน มีอาจารย์และวิทยากรเก่ง ๆ หลายท่านมาให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมหลากหลายแง่มุม ทั้งยังได้ลงพื้นที่ไปดูปัญหาสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริง กิจกรรมที่ชอบมากที่สุด คือการไปศึกษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน จ.สมุทรปราการ  คนในชุมชนสามารถอธิบายปัญหาสิ่งแวดล้อมให้เราฟังด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย เปิดโอกาสให้พวกเรา ได้ลองเสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหา และมีอาจารย์คอยให้ฟีดแบคว่าสิ่งที่เรานำเสนอไปว่าสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงหรือไม่  นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมโครงงานกลุ่มวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ที่ผมและเพื่อน ๆ ได้นำหลักการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาประยุกต์ใช้ คิด วิเคราะห์ และพัฒนาเป็นแนวคิดเพื่อนำเสนอคณะกรรมการ และที่ดีใจก็คือ โครงงานฯ ของกลุ่มผมได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ด้วยครับ” 

พงศธร ลี้

นายพงศธร ลี้ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์-ดนตรี โรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยา กรุงเทพมหานคร เล่าว่า “ถ้าพูดถึงการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ หลาย ๆ คนคงนึกถึงทฤษฎี การทดลอง หรือสูตรต่าง ๆ ที่ทำให้รู้สึกว่าเข้าใจยาก พอมาเรียนสายนี้ก็ยิ่งรู้สึกว่าการเรียนวิทยาศาสตร์ค่อนข้างหนัก เข้มข้น และจริงจัง ซึ่งผมคิดว่าการหาประสบการณ์นอกห้องเรียนมีส่วนช่วยทำให้เราไม่ต่อต้านการเรียนวิชานี้ พอมีโอกาสได้มาเข้าร่วมค่ายเพาเวอร์กรีนก็รู้สึกว่า เป็นค่ายวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่ไม่เครียดอย่างที่คิด และเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้นอกสถานที่อย่างหลากหลาย เหมือนเป็นการมา “เรียน ๆ เล่น ๆ” แต่เป็นการเล่นที่ได้ทั้งความรู้ และประสบการณ์ เปิดโอกาสให้ผมได้ร่วมทำกิจกรรมที่สนุกกับเพื่อนใหม่ อาจารย์ก็ให้ความรู้แบบอัดแน่น หากเราไม่เข้าใจตรงไหน อาจารย์ก็พร้อมให้คำแนะนำ และนอกจากความรู้และความสนุกสนานที่ได้รับ ค่ายนี้ทำให้ผมได้มีส่วนช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อม และได้ลงมือแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริง ๆ ด้วยครับ 

อย่างกิจกรรมปลูกป่าชายเลนเป็นวันที่ทำให้ผมเข้าใจที่มาของคำว่า “ยิ่งเลอะ ยิ่งเยอะประสบการณ์” สนุกที่ได้ลงไปเดินในดินโคลน ได้เห็นความหลากหลายของระบบนิเวศรอบๆ ป่าชายเลน มีปู กุ้ง และสัตว์ที่ไม่เคยเห็นเต็มไปหมด ต้นไม้ที่ผมและเพื่อนๆ ปลูกกันละคนต้นในวันนั้น ตอนนี้ผ่านไปเกือบปีแล้ว น่าจะเติบโตเป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อนให้แก่สัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นได้บ้างแล้ว และหวังว่าต้นไม้เหล่านั้นจะเติบโตไปเป็นแนวป้องกันภัยธรรมชาติอย่างที่อาจารย์บอกไว้ได้ครับ” 

นอกจากภาคทฤษฎีที่เข้มข้นและกิจกรรมการเรียนรู้ที่จับต้องได้แล้ว ความโดดเด่นของห้องเรียนวิทยาศาสตร์จากค่ายเพาเวอร์กรีนคือ เป็นเวทีให้เยาวชนกล้าคิด กล้าแสดงออก โดยเน้นการเปิดโอกาสให้เยาวชนหาความรู้นอกห้องเรียนและสัมผัสประสบการณ์ตรงจากการลงมือปฏิบัติ การลงพื้นที่ชุมชนเพื่อให้เห็นปัญหาที่แท้จริง และร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับชาวชุมชน รวมถึงเสริมสร้างทักษะการสื่อสาร การนำเสนอ การเป็นกระบอกเสียงด้านสิ่งแวดล้อม 

- ประเด็นสิ่งแวดล้อมและเมกะเทรนด์โลก เป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกคนควรเรียนรู้  

ในแต่ละปี ค่ายเพาเวอร์กรีน เน้นออกแบบการเรียนรู้และกิจกรรมให้ตอบโจทย์กลุ่มผู้เรียน เทรนด์การศึกษา รวมถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม เมื่อวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องเข้าใจยาก หน้าที่ของโครงการฯ จึงต้องเป็นการนำองค์ความรู้และทฤษฎีต่าง ๆ มาย่อยให้ง่ายที่สุด และสอดแทรกผ่านกิจกรรมการเรียนรู้อย่างหลากหลาย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการทำความเข้าใจได้ง่ายและสามารถนำไปต่อยอดได้มากที่สุด  

จากสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหาขยะในประเทศไทย ที่องค์การสหประชาชาติรายงานเมื่อช่วงต้นปี 2566 ว่า ขยะทางทะเลส่วนใหญ่พบอยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยไทยติดอันดับ 10 ประเทศที่มีขยะพลาสติกไหลลงทะเลต่อปีมากที่สุด และเราคงจะช้าไม่ได้ที่จะศึกษาและแก้ไขปัญหานี้ไปด้วยกัน และในยุคสมัยที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง “เทคโนโลยีดิจิทัล” จะเข้ามามีบทบาทและเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหานี้อย่างมีนัยสำคัญ  

ในปีนี้ ค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ‘เพาเวอร์กรีน’ (Power Green Camp) รุ่นที่ 18 ได้นำวาระสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและเทรนด์โลกมาออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ภายใต้แนวคิด “Waste Warriors ภารกิจพิทักษ์โลก: Green Cloud – Green Tech – Green Influencer” โดยนำปัญหาเรื่องการจัดการขยะ ซึ่งถือเป็นเรื่องใกล้ตัวมาเป็นหัวข้อการเรียนรู้หลัก เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ปัญหาขยะและแนวทางแก้ไขตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง ตลอดจนสามารถนำองค์ความรู้ของเทรนด์ 3 Greens มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับกิจกรรมต่าง ๆ ในค่ายฯ  

Green Cloud หรือเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud-computing) เพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นการบูรณาการวิทยาการทางเครือข่ายและคอมพิวเตอร์ (Networking and computing) การจัดเก็บข้อมูล (Storage) การบริการทรัพยากรข้อมูล (Data Service Resources) ไว้ด้วยกัน เพื่อนำไปช่วยจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม ค่ายฯ มีความมุ่งหวังให้เยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการทำงาน และสามารถนำเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งไปประยุกต์ใช้ได้ในอนาคต   

Green Technology คือเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ถูกออกแบบมาด้วยการลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ความน่าสนใจคือเราต้องปลูกฝังให้เยาวชนรู้จักนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมไปพัฒนาและสร้างสรรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป  

ส่วน Green Influencer หมายถึงผู้ขับเคลื่อนเรื่องการรับรู้เกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อมผ่านโซเชียลมีเดีย กลุ่มคนเหล่านี้ค่อนข้างมีอิทธิพลต่อการรับรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมของผู้ติดตาม ซึ่งค่ายเพาเวอร์กรีนเล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมทักษะด้านการสื่อสาร รวมถึงเทคนิคการนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อให้เยาวชนสามารถเป็นกระบอกเสียงเล็ก ๆ เพื่อร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมได้ 

- พลิกมุมมองการเรียนวิทย์ คิดใหม่ให้สนุกไปพร้อมกับการเรียนรู้ 

เพราะบ้านปูเชื่อว่า “การเรียนรู้” เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนา “คน” ซึ่งจะขับเคลื่อนชุมชนและสังคมให้พัฒนาอย่างยั่งยืน จึงส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมต่าง ๆ และค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน” ก็เป็นช่องทางสำคัญที่ช่วยให้บ้านปูสามารถบรรลุความตั้งใจในการสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนอย่างต่อเนื่องตลอด 18 ปี 

 

รัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

นายรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า “เราเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับชั้น ม.ปลาย ทุกแผนการเรียน สามารถสมัครเข้าร่วมได้ โดยพยายามออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ไม่เน้นการท่องจำทฤษฎี แต่เราเน้นให้เยาวชนได้ปฏิบัติ เรามองว่าแม้นักเรียนจะมีความสนใจที่แตกต่างกัน แต่ควรนำวิทยาศาสตร์มาเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้และบูรณาการให้เข้ากับวิชาอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยอำนวยประโยชน์ให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ที่หลากหลาย และการนำเอานักเรียนสายการเรียนอื่นมาร่วมค่ายฯ ยังทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจและบรรยากาศการเรียนรู้ที่น่าสนุกสนานอีกด้วย”  

โครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ‘เพาเวอร์กรีน’ (Power Green Camp) เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวออกมาอย่างเต็มที่ และยังสร้างผลผลิตเครือข่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมมาแล้วกว่า 17 รุ่น ปัจจุบันมีแกนนำเยาวชนคนรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นผลผลิตจากค่ายฯ มากกว่า 1,000 คนทั่วประเทศที่เติบโตจนกลายเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของการร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 

สำหรับเยาวชนที่สนใจเข้ามาเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่สนุกในอีกรูปแบบหนึ่งนอกห้องเรียน ค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ‘เพาเวอร์กรีน’ (Power Green Camp) รุ่นที่ 18 “Waste Warriors ภารกิจพิทักษ์โลก: Green Cloud – Green Tech – Green Influencer” กำลังเปิดรับสมัครอยู่สามารถดูรายละเอียด ได้ที่ 

เฟซบุ๊ก: www.facebook.com/powergreencamp   เว็บไซต์: www.powergreencamp.com