# นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการรัฐสภา ออกหนังสือ ด่วนมาก ที่ สผ 0014/ร 6  ถึง สส.  สว. เรื่อง การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เนื่องด้วยประธานรัฐสภา ได้มีคำสั่งให้นัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ในวันอังคารที่  22  สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา  10.00 น.  

โดยมีเรื่องด่วน คือ 1.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา  272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (ยกเลิกมาตรา 272 ) ที่นายชัยธวัช ตุลาธน  สส.บัญชีรายชื่อ กับคณะ เป็นผู้เสนอ

# นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้โพสต์ข้อความพร้อมคลิปวีดีโอลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว "เศรษฐา ทวีสิน - Srettha Thavisin" ตอบโต้การออกมาแถลงข่าวของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง ที่พาดพิงธุรกิจอสังหาในเครือแสนสิริ โดยยืนยันว่าบริษัทได้ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่นายชูวิทย์ ให้ข้อมูลเป็นเท็จ บิดเบือน ทำให้เสียหาย ดังนั้นพร้อมต่อสู้ในชั้นศาล นอกจากนี้ขอบคุณทุกกำลังใจที่มอบให้ และตัดสินใจเข้าสู่การเมือง นั้นต้องการทำเพื่อประเทศชาติ 

# นายสมชาย แสวงการ ส.ว.เปิดเผยว่า วุฒิสภาขอเวลาในการอภิปรายโหวตนายกรัฐมนตรี 2 ชั่วโมง โดยจะอภิปรายเกี่ยวกับคุณสมบัติทั้งหมดของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ แต่วันนี้ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นใคร ซึ่งในที่ประชุมได้ซักถามกันว่าตกลงแล้วจะเสนอชื่อใครเป็นนายกฯ โดยพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน แต่จะมีการแถลงในวันที่ 21 ส.ค.อีกครั้งว่าเป็นใคร 

# นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ  เปิดเผยถึงการเข้าร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย  ว่า มีการพูดคุยกันมาตลอด โดยคณะเจรจามีเพียงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรคและตนที่เข้าไปคุยกับทีมบริหารของพรรคเพื่อไทย

เป็นการคุยอย่างเป็นทางการได้ระบุเงื่อนไขว่า จะต้องไม่มีการแก้ไข มาตรา 112 ซึ่งได้รับการยืนยันว่าไม่มีการแก้ไข และยืนยันยังไม่มีการพูดคุยเรื่องการแบ่งกระทรวง นอกจากนี้พรรคเพื่อไทยยังรับปากว่า จะไม่มีพรรคก้าวไกล เป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วย

# นายรังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยืนยันว่าพรรคก้าวไกลยังคงเดินหน้าเสนอญัตติ ขอให้รัฐสภามีมติทบทวนการพิจรณามติ เมื่อ 19 กรกฏาคม ว่าการเสนอชื่อบุคคลเดิมให้รัฐสภาเห็นชอบเป็นนายกฯ นั้นไม่สามารถเสนอตนเดิมได้  เพื่อให้โอกาสที่รัฐสภาได้ทำผิดพลาด แก้ไข ส่วนทิศทางการโหวตนั้น คาดหวังว่าจะชนะ แต่หากมติออกมาแบบเดิม คงทำอะไรไม่ได้ และจะไม่เสนอญัตติทบทวนซ้ำอีกในสมัยประเดียวกัน