วันที่ 18 ส.ค.2566 นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดเลือกตั้งซ่อมเขต 3 จังหวัดระยองว่า การเลือกตั้งซ่อมจังหวัดระยองใช้ฐานข้อมูลเดิมกับการเลือกตั้งทั่วไป ทั้งจำนวนหน่วยเลือกตั้ง และจำนวนประชากร แม้เวลาจะน้อยแต่ไม่กระทบกับการบริหารจัดการ กกต.จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิให้มากขึ้น  ส่วนกรณีที่ผู้สมัคร มีเพียง 2 คน และเป็นการแข่งขันระหว่างขั้วการเมือง คงไม่มีปัญหาในการบริหารจัดการ การแข่งขันเป็นเรื่องกติกาซึ่งเราต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย โดยจะมีการใช้อำนาจรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่นั้น ทุกการเลือกตั้งซ่อมมักมีคนกล่าวอ้างว่าใช้อำนาจรัฐ แต่ช่วงนี้เป็นช่วงรัฐบาลรักษาการเหมือนกับการเลือกตั้งทั่วไป ที่ผ่านมาก็ไม่มีข้อครหาเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐ เราจะต้องดูแลให้การแข่งขันเป็นไปอย่างเสมอภาค เบื้องต้นยังไม่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามา ทุกอย่างน่าจะเรียบร้อย

เมื่อถามว่าจะเป็นการใช้สนามเลือกตั้งนี้เพื่อวัดพลังการเมืองระดับประเทศหรือไม่ นายแสวง ระบุว่า ไม่ได้อยู่ในอำนาจที่จะตอบ อย่างไรก็ตามกรณีที่มีผู้ร้องยุบพรรค ปัจจุบันมีคำร้อง 135 เรื่อง พิจารณาแล้ว 111 เรื่อง ที่เหลือเกี่ยวข้องกับ 10 พรรคการเมือง ส่วนมากเป็นพรรคการเมืองใหญ่ 

ส่วนกรณีคำร้องยุบพรรคก้าวไกล จากเหตุมีนโยบายหาเสียงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในชั้นสำนักงาน กกต.จะเป็นการดูแลข้อกฎหมาย ตนเองยังไม่ได้รับรายงานอะไร ส่วนอีกช่องทางคือการไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้กรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝาก 2 คำถามถึง กกต. จากกระแสข่าวว่า กกต.จะยกคำร้องในคดีอาญา มาตรา 151 รู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติรับเลือกตั้ง แต่ยังลงสมัครจากการถือหุ้นไอทีวี เรื่องนี้อยู่ในสำนวน เป็นไปตามกระบวนการ เมื่อ กกต.พิจารณาแล้วเสร็จจะส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญต่อไป พร้อมย้ำว่า กกต.ไม่ใช่ผู้ตัดสิน ผู้ตัดสินคือ ศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามถึงกรณีมาตรา 151 ของนายพิธาต้องรอบคอบกว่าเดิมหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า เรื่องมาตรา 151 เป็นคดีอาญาต้องพิสูจน์เจตนา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะออกมาในทิศทางใด ส่วนที่นายพิธาตั้งคำถามว่าเหตุใด กกต.ถึงไม่เรียกเจ้าตัวมาชี้แจงนั้น ส่วนตัวไม่ทราบในกระบวนการของคณะกรรมการสอบสวน เนื่องจากมอบให้ รองเลขาธิการ กกต.ดูแลเรื่องนี้  รู้เพียงว่ากระบวนการยังไม่จบ ตนเองจะรู้ก็ต่อเมื่อเสนอเข้าที่ประชุม กกต. และไม่สามารถแทรกแซงหรือก้าวก่ายได้ หากมีลักษณะของการให้คุณให้โทษก็จะต้องเชิญมาชี้แจง ต่างจากกรณีลักษณะต้องห้ามที่เป็นเรื่องของตัวบุคคล ทั้งนี้หากการสอบสวนยังไม่สิ้นกระแสความ ไม่ครบถ้วนครบประเด็นก็จะสามารถสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมได้

ส่วนกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่าคณะอนุกรรมการฯ เสนอให้ยกคำร้องไป นายแสวง ระบุว่าไม่ทราบ และไม่เห็น