เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 18 ส.ค. 66 นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมร่วมวิป3 ฝ่าย โดยกล่าวยืนยันว่า ทางวุฒิสภาขอเวลาในการอภิปรายโหวตนายกรัฐมนตรี 2 ชั่วโมง โดยจะอภิปรายเกี่ยวกับคุณสมบัติทั้งหมดของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ แต่วันนี้ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นใคร ซึ่งในที่ประชุมได้ซักถามกันว่าตกลงแล้วจะเสนอชื่อใครเป็นนายกฯ โดยในที่ประชุมพรรคเพื่อไทยก็ยืนยันว่าเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งจะมีการแถลงในวันที่21 ส.ค. อีกครั้ง ว่าเป็นใคร แต่ตนก็ได้ข่าวว่าชื่อคนเป็นนายกฯ จะเป็นชื่ออื่น ไม่ใช่นายเศรษฐา ดังนั้น คิดว่าในวันที่21 ส.ค. พรรคเพื่อไทยจะต้องทำให้เรียบร้อยว่าจะเสนอชื่อใครเป็นนายกฯ กันแน่
เมื่อถามว่า หลังจากที่พรรคเพื่อไทย มีการแถลงในวันที่ 21 ส.ค.แล้ว ในการโหวตเสียงของสว. จะแตกหรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า เสียงของสว. มันแตกเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งก็แล้วแต่ความคิดของแต่ละคน ส่วนการแสดงวิสัยทัศน์ของนายเศรษฐาที่จะแสดงต่อที่ประชุมนั้น ตนเห็นว่าเป็นเรื่องดีถ้าเขาจะมา เพราะอาจจะมีคนถาม ทั้งนี้ ได้มีการสอบถามในที่ประชุมไปยังตัวแทนพรรคเพื่อไทย ระบุว่านายเศรษฐาจะไม่มาแสดงวิสัยทัศน์ในที่ประชุม
เมื่อถามว่าล่าสุดที่พรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐไปจับขั้วร่วมรัฐบาลด้วยจะส่งสัญญาณให้สว. เลิกแตกแถวได้หรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ไม่เกี่ยว สว. มีอิสระในการโหวตอยู่แล้ว และต้องพิจารณาเหมือนกับตรวจสอบคุณสมบัติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมเหมือนเดิม
เมื่อถามถึงกรณีที่มีการมองว่าหากนายเศรษฐาไม่ผ่านรอบนี้ จะมีการดันให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขึ้นเป็นนายกฯ แทน นายสมชาย กล่าวว่า ไม่เกี่ยว ไม่มีไปไกลขนาดนั้น เพราะพรรคเพื่อไทยยังมีแคนดิเดตคนอื่นอีก ทั้ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และนายชัยเกษม นิติสิริ ฉะนั้นส.ว.ก็ทำหน้าที่ของตัวเองในการโหวต และพิจารณาตามปกติ แต่สิ่งที่เราอยากได้ และยังไม่เห็น คือตกลงแล้วพรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อนายเศรษฐาใช่หรือไม่และคนจะเป็นนายกฯ ก็ควรนั่งแถลง หากไม่แถลงในสภาก็ต้องนั่งแถลงข้างนอก โดยมีพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดอยู่ด้วย จะได้ชัดเจนว่านโยบายหลอมรวมกันอย่างไร เพราะเท่าที่ดูนโยบายแตกต่างกันมาก ดังนั้น วันนี้หากจะสลายขั้วมารวมกัน ก็ต้องเอาให้ชัดว่ามีกี่เสียงสว. เราไม่ได้ขัดข้อง ส่วนตัวคนจะเป็นใครก็จะมาดู
เมื่อถามว่า จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีนายกฯคนนอก นายสมชาย กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ เพราะเป็นเรื่องที่ไกลโพ้น
"แต่ที่ห่วงอีกอย่าง คือเรื่องการศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะที่ผ่านมามีรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ผ่านมา 3 คณะแล้วทำไมต้องล้มรัฐธรรมนูญแล้วร่างใหม่ ทำไมไม่คิดแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ต้องคุยให้เคลียร์ว่าจะเอาอย่างไร เพราะการร่างรัฐธรรมนูญกับการแก้ไขเป็นคนละเรื่องกัน เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ใช้มา 6 ปี ก็เหมือนบ้าน หากเห็นว่าหลังคารั่ว ก็ต้องซ่อม แต่ถ้าบอกว่าเผาบ้านทิ้งแล้วสร้างบ้านใหม่กันดีกว่า อันนี้ยุ่ง และหากมีนโยบายล้มรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก็ต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ใช้งบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท"
เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่า จะมีม็อบมากดดัน นายสมชาย กล่าวว่า ไม่กังวล เราชินกับม็อบอยู่แล้ว
เมื่อถามว่า หากโหวตนายกฯ ครั้งที่ 3 ไม่ผ่าน ทางสว. อาจจะถูกมองว่าเป็นตัวถ่วง ที่ทำให้การบริหารประเทศเดินหน้าไม่ได้ นายสมชาย กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน สมัยรัฐบาล 377 เสียง สมัยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เคยจัดมาแล้ว แต่ครั้งนี้ที่จัดไม่ได้ เพราะสว. ต้องมาให้ความเห็นชอบเพิ่ม ซึ่งไม่ได้มีปัญหา เพราะสว. ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา เราไม่ได้กังวลหรือขัดขวาง หากใครเหมาะสมเป็นนายกฯ เราก็โหวตให้ หากไม่เหมาะสมเราก็ไม่โหวตให้ เพราะทุกคนต้องลุกขึ้นขานชื่อให้ประชาชนรับทราบอยู่แล้ว จึงไม่มีวัตถุประสงค์ไปขัดขวางใคร หรือพรรคการเมืองใดตั้งแต่ต้น
เมื่อถามว่า ปัจจัยที่มีพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐเข้ามาด้วย จะมีส่วนให้สว. โหวตให้นายกฯ จากพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ไม่เกี่ยว และเกณฑ์ที่สว. จะช่วยโหวตก็แล้วแต่สว. จะพิจารณา เพราะเราใช้ดุลยพินิจอิสระอยู่แล้ว แต่ถ้าเสียงของเขาพอ ไม่ต้องใช้เสียงสว. ก็ดีนะ แต่มันคงเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ ส่วนตัวไม่สามารถตอบได้ ว่าจะโหวตอย่างไร ขอดูหน้างานอีกที