บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

วาระแห่งชาติในการแก้ไขปัญหา “การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย” เริ่มจาก มติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบ Roadmap เมื่อ 26 สิงหาคม 2557 ซึ่งในปี 2558 มีรายงานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เรื่อง การปฏิรูประบบกำจัดขยะเพื่อแก้ปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยของชุมชน ในระบบบริหารจัดการทรัพยากร โดยการจัดการขยะระบบกลุ่มจังหวัด (Cluster base) หรือ “ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวม” ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ.2560 ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.2559-2564) โดยกรมควบคุมมลพิษ และร่างแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ (พ.ศ.2565-2570) โดยกองจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ ถือเป็นหนังหน้าไฟของ อปท.ในการจัดการขยะมูลฝอยซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ซ้ำซากและเริ่มหนักขึ้นทุกปี

สถานการณ์วิกฤตขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อมไทย

ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและการป้องกันแก้ไขมีมาร่วม 30 ปีแล้ว หนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญคือ ปัญหาการจัดการขยะ เพราะมนุษย์คือผู้ก่อขยะที่สำคัญที่สุด เมื่อมีขยะก็ต้องมีวิธีบริหารจัดการขยะที่ถูกต้อง เพื่อให้โลกน่าอยู่ไม่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นดังเช่นปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็นวิกฤตสิ่งแวดล้อมลำดับต้นๆ ขอลำดับความสรุปสถานการณ์ทั่วไปในปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ได้แก่ (1) มลพิษทางน้ำ (2) มลพิษทางอากาศ (3) มลพิษทางเสียง และ (4) มลพิษที่เกิดจากขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล

10 ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก (2562) ได้แก่ (1) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (2) ปัญหาจากไนโตรเจน (3) วิกฤติภูมิอากาศ (4) ปัญหาจากฟอสฟอรัส (5) มหาสมุทรเป็นกรด (6) ปัญหาตัดไม้ทำลายป่าและการใช้ที่ดิน (7) ความเพียงพอของน้ำจืด ( 8 ) การสูญเสียชั้นโอโซน (9) มลพิษทางเคมี (10) มลพิษทางอากาศในชั้นบรรยากาศ ซึ่งลำดับที่ 1-3 ถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่เกินขีดความสามารถของโลกจะรับได้อย่างปลอดภัย เห็นว่า “ปัญหาขยะมูลฝอยฯ” ในมิตินี้ จะเป็น ปัญหามลพิษ คือ “ขยะพิษ” หรือขยะอันตรายที่เป็นสารเคมี หรือกากของเสียอุตสาหกรรมอันตราย (Hazardous Waste) ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Waste) หรือขยะที่ปนเปื้อนวัตถุสารเคมีอันตรายชนิดต่างๆ หรือ ขยะติดเชื้อ (infectious waste)

ปี 2565 ททท.กล่าวถึงวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม “ภัยเงียบใกล้ตัว” ที่สำคัญที่สุด 6 วิกฤต ได้แก่ (1) วิกฤตน้ำมันรั่วลงทะเลระยอง (2) วิกฤตไฟไหม้ป่าภัยจากฝีมือมนุษย์ (3) วิกฤตเหมืองถ่านหินอมก๋อย (4) วิกฤตอาหารเหลือทิ้งทั้งที่ยังกินได้ (5) วิกฤตขยะพลาสติกในยุคโควิด (6) วิกฤตขยะอิเล็กทรอนิกส์ล้นเมือง ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า 2 วิกฤตสำคัญ ได้แก่เรื่องขยะพลาสติก และ ขยะอิเล็กทรอนิกส์

World Economic Forum (2022) ได้ประเมินสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกปัจจุบัน “ความเสี่ยงที่ร้ายแรงที่สุดของโลก” ในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยมีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม 3 อันดับแรก (World Economic Forum Global Risk) ประกอบด้วย (1) ความล้มเหลวในการจัดการสภาพภูมิอากาศ (Climate action failure) (2) ความแปรปรวน/สภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ (Extreme weather) (3) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity loss) แม้ว่าจะไม่มีการระบุกล่าวถึง “วิกกฤตขยะมูลฝอยโดยตรง แต่ หากวิเคราะห์องค์รวมของปัญหาขยะแล้ว มีหลายมิติที่เกี่ยวโยงกัน เช่น ความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ อันเนื่องมาจากการบริหารจัดการขยะที่ไม่ถูกต้องในหลายๆ กรณี เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาโลกร้อน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของเราทุกคน อาทิ ขยะที่เกิดจากการบริโภค การส่งเสริมท่องเที่ยว การเติบโตของธุรกิจไรด์เดอร์หรือบริการส่งอาหาร/สินค้า บริการ นโยบายส่งเสริมการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ฯลฯ แม้ว่าขยะบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก เช่น กล่องใส่อาหาร กล่องโฟม ถุงหูหิ้ว หลอดดูด แก้วน้ำ ฯลฯ ซึ่งเป็นขยะประเภทใช้ครั้งเดียวที่สามารถนำมารีไซเคิลได้จะมีแนวโน้มลดลงในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่สัดส่วนของขยะที่กำจัดไม่ถูกต้องกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้น ในด้านการจัดการขยะหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมีมาตรการกำจัดขยะมูลฝอย แต่กลับพบว่ากระบวนการในการจัดการขยะส่วนใหญ่ยังทำไม่ถูกวิธี รวมทั้งขั้นตอนและวิธีการกำจัดขยะก็ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด การแก้ปัญหาขยะที่ต้นทางและการกำจัดขยะของภาครัฐและเอกชนที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิดการสะสมของขยะมูลฝอย ขยะสารเคมีที่เป็นอันตราย ขยะพลาสติกทั้งถุงหูหิ้ว ขวดน้ำ แก้วพลาสติก กล่องโฟม เศษอาหาร และอื่นๆ กระจายอยู่ในพื้นที่บ่อขยะ พื้นที่ฝังกลบ พื้นที่ที่มีการนำขยะไปเทกองรวมกัน รวมทั้งแม่น้ำลำคลอง ชายหาด พื้นที่ทะเล พื้นที่ป่าไม้ ชุมชน และพื้นที่เมือง และการลักลอบปล่อยของเสียหรือกากอุตสาหกรรมของโรงงานอุตสาหกรรม ก็ส่งผลให้เกิดมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอีกด้วย

Climate Change  (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ)

จากปัญหาขยะดังกล่าวนั้นส่งผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อมแน่นอน เพราะวิกฤติโลก “Climate Change” ปัจจุบันถือเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ของโลก ตั้งแต่ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น สภาพอากาศที่รุนแรง ไปจนถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย ทำร้ายชีวิตของผู้คนมากมาย จากการประเมินสถานการณ์ Climate Change ของประเทศไทยก็ใช่ว่าจะไม่หนักหนา ยังคงเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากเช่นกัน ซึ่งแอนโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (2565) ได้กล่าวถึง ภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นต่อมวลมนุษยชาติ (Code Red for Humanity) หรือ ภัยพิบัติระดับ “รหัสแดง” (ภัยรหัสแดง) ที่ประเทศไทยต้องเจอได้รับผลกระทบในอนาคตคาดว่าจะเกิดภัยธรรมชาติใน 5 เรื่องหลัก ได้แก่ (1) จากนี้ต่อไปอุณหภูมิมีแต่จะสูงขึ้น คลื่นความร้อนจะตามมา (2) เมื่ออุณภูมิสูงขึ้น น้ำระเหย ฤดูแล้งไม่มีน้ำเพราะระเหยไปหมด ภัยแล้งจะตามมา (3) น้ำที่ระเหย อาจจะมองว่าหายไป แต่ความจริงอยู่ด้านบน อยู่ในรูปของไอ ฤดูฝนเมื่อเจอความเย็นจะตกมาเป็นฝนและตกหนัก (4) หากมีความเปราะบางในพื้นที่ น้ำจะท่วม (5) เมื่ออุณหภูมิสูง น้ำทะเลก็จะร้อนขึ้น เมื่อน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น กทม. อยู่ในระดับเรี่ยกับน้ำทะเล ก็จะเสี่ยงเจอน้ำท่วมมากขึ้นตามไปด้วย มีการคำนวณว่า กทม. อาจจมน้ำถาวร มีโอกาสเจอ “น้ำท่วม” ใหญ่เพิ่มขึ้น 30%

สำหรับปี 2566 สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้วิเคราะห์จับตาสิ่งแวดล้อมโลก และสิ่งแวดล้อมไทย ในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยมีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม 3 อันดับแรก (คือ Climate action failure, Extreme weather, Biodiversity loss) ความท้าทายสู่เป้าหมาย Net Zero กระแสโลกได้ให้ความสำคัญของการประกาศเจตนารมณ์ของผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร โดยมีเป้าหมายที่จะควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส โดยกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ได้กำหนดจะไปถึงเป้าหมาย ในปี 2050 (พ.ศ.2593) โดยประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายไว้สามระยะ คือ (1) ระยะที่หนึ่ง ปี 2030 (พ.ศ.2573) ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% หากได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน และเทคโนโลยี (2) ระยะที่สอง เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ในปี 2050 (พ.ศ.2593) และ (3) ระยะที่สาม เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2065 (พ.ศ.2608)

ปริมาณขยะมูลฝอยรวมในระดับพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวแล้วว่าปัญหาขยะนั้นเป็นเพียงวิกฤตส่วนหนึ่งที่มีอยู่ในหลายๆ มิติ จากข้อมูลสรุปว่า ปริมาณขยะรวมกันทั้งประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2551 ที่ 23.93 ล้านตันต่อปี เพิ่มเป็น 27.06 ล้านตันในปี 2559 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 สูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรในช่วงเวลาเดียวกัน ถึงปี 2563 มีปริมาณขยะจำนวน 27.35 ล้านตัน แต่ปี 2564 ลดลงเหลือ 24.98 ล้านตัน ต่อปี

 ฐานคำนวณปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนระดับปัจเจกต่อคนต่อวันปัจจุบัน พบว่าปี 2560 ในแต่ละวันมีขยะประมาณ 0.5-1 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน เป็นขยะจากกิจวัตรประจำวันของคนในเมืองเฉลี่ย 1 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ส่วนในสังคมชนบทปริมาณขยะจะน้อยกว่าคือ เฉลี่ยประมาณ 0.5 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ขยะที่เราก่อขึ้นมีตั้งแต่เศษอาหาร กระดาษชำระ เศษกระดาษ ถึงพลาสติก ขวดแก้ว ขวดพลาสติก กระเบื้อง อะลูมิเนียม นมกล่อง ถ่านไฟฉาย หลอดไฟใช้แล้ว ฯลฯ จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษปี 2564 พบว่า ปริมาณขยะเท่ากับ 1.03 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ลดลงจากปี 2563 ที่มีอัตราการเกิดขยะมูลฝอย 1.05 กิโลกรัม/คน/วัน

ปัญหาเทคนิคการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในมิติต่างๆ

มีการนำระบบวิทยาการสมัยใหม่มาบริหารจัดการกำจัดแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย (Waste Management) ที่สำคัญ ได้แก่ (1) เทคโนโลยีการบำบัดขยะด้วยวิธีการแบบเชิงกล-ชีวภาพ (Mechanical and Biological Waste Treatment : MBT) ซึ่งเป็นอีกเทคโนโลยีที่สามารถปรับเสถียรภาพของขยะมูลฝอยได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) (2) เชื้อเพลิงขยะมูลฝอย (Refuse Derived Fuel : RDF) เป็นการปรับปรุง และแปลงสภาพของขยะมูลฝอย ให้เป็นเชื้อเพลิงแข็งที่มีคุณสมบัติในด้าน ค่าความร้อน (Heating Value) ความชื้น ขนาด และความหนาแน่น เหมาะสมในการใช้เป็นเชื้อเพลิงป้อนหม้อไอน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าหรือความร้อน และมีองค์ประกอบทั้งทางเคมีและกายภาพสม่ำเสมอ RDF จากขยะสู่เชื้อเพลิงพาณิชย์ มุ่งเน้นการกำจัดขยะที่ตกค้างและเกิดขึ้นใหม่อย่างเป็นระบบ เช่น การนำขยะมูลฝอยส่วนที่เผาไหม้ได้มาผ่านกระบวนการแปรสภาพเป็นแก๊ส (Gasification) เพื่อผลิตแก๊สสังเคราะห์ (Syngas) ที่ใช้เป็นแก๊สเชื้อเพลิงได้, โครงการศึกษาต้นแบบการบริหารจัดการเชื้อเพลิง RDF สำหรับใช้ในการผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติก การพัฒนาการแปรรูปขยะเป็นน้ำมันตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้สมดุลและครบวงจร (3) เตาเผาผลิตพลังงานจากขยะหรือ พลังงานจากขยะ (Waste to Energy : WTE) คือ พลังงานที่ได้จากขยะ ขยะชุมชน และขยะมูลฝอยจากการอุปโภค กระบวนการผลิต หรือการดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ทั้งภายในครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม ปัจจุบัน พลังงานจากขยะถือเป็นแหล่งพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพสูงเนื่องจากสามารถนำไปผลิตเป็นพลังงานความร้อน พลังงานไฟฟ้า ก๊าซชีวภาพ และสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ทดแทนพลังงานจากแหล่งฟอสซิลได้เป็นอย่างดี มีเทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดการขยะเพื่อเปลี่ยนสภาพเป็นพลังงานทดแทน หลายอย่าง เช่น เทคโนโลยีผลิตก๊าซเชื้อเพลิง (Gasification) เป็นเทคโนโลยีการเผาขยะในเตาเผาที่มีอุณหภูมิสูงประมาณ 1,200-1,400 องศาเซลเซียสในบรรยากาศที่ควบคุมปริมาณออกซิเจนเพื่อกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยากระบวนการสลายตัว (Decomposition) และกระบวนการกลั่นสลาย (Devolatilization) ของโมเลกุลสารอินทรีย์ในขยะผ่านการทำปฏิกิริยาสันดาปแบบไม่สมบูรณ์ (Partial Combustion) เพื่อเปลี่ยนขยะให้เป็นก๊าซ ผลผลิตหลักที่ได้ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรเจน และมีเทน ซึ่งสามารถนำไปใช้ผลิตไฟฟ้า และพลังงานงานความร้อนที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ได้ต่อไป

WTE ด้วยเทคโนโลยีเตาเผาขยะมูลฝอย (Incineration) เป็นแนวคิดต้นแบบโรงไฟฟ้าขยะชุมชนไร้มลพิษ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ (Waste-to-energy Power Plant) ที่สร้างพลังงานทดแทนด้วยการแปรรูปขยะไม่ว่าจะเป็นขยะมูลฝอย ขยะชุมชน รวมไปถึงขยะที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ซึ่งขยะเหล่านี้สามารถนำไปแปรรูปเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทนรูปแบบต่างๆ ได้มากมาย เช่น พลังงานไฟฟ้า ก๊าซชีวภาพ น้ำมัน

ทั้งนี้มีเทคนิควิธีการคือ “การจัดการขยะแบบครบวงจร” (Integrated Solid Waste Management : ISWM) เป็นแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยที่มุ่งเน้นให้มีการควบคุมอัตราการเกิดขยะให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด การเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยกขยะเพื่อนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ตั้งแต่ต้นทางหรือในแต่ละครัวเรือนก่อนจะรวบรวมขยะที่ใช้ไม่ได้อีกไปกำจัดขั้นสุดท้าย โดยเลือกใช้เทคโนโลยีที่จะนำไปสู่การสร้างพลังงาน หรือ waste t-energy เพื่อให้ขยะมูลฝอย ซึ่งเดิมทีคนมองว่าเป็นภาระที่จะต้องนำไปกำจัด ให้กลายเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตแทนวัตถุดิบที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติ หรือ “การจัดการขยะมูลฝอยโดยชุมชน” (Community Based Solid Waste Management : CBM) เป็นองค์รวมของแนวคิดในการจัดการขยะแบบผสมผสานที่มีเป้าหมายเจาะจงที่กลุ่มผู้ผลิตขยะ กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณขยะ ณ แหล่งกำเนิดขยะ ได้แก่ ครัวเรือนต่างๆ ในชุมชนเมืองเพื่อลดปัญหาและลดต้นทุนของส่วนอื่นๆ ของการจัดการขยะมูลฝอย

“แนวคิด Zero waste หรือขยะเหลือศูนย์” เป็นปรัชญาที่ส่งเสริมการ หมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สูงสุด ลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นให้น้อยที่สุดโดยใช้หลักการของ 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) รวมทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถนำกลับมาใช้ ใหม่ได้เกือบทั้งหมด เพื่อเป็นการลดปริมาณของเสียที่ส่งไปกำจัดโดยวิธีการฝังกลบ และ/หรือเผา ทำลายให้มีปริมาณน้อยที่สุด โดยมีการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนอย่างครบวงจร 4 กระบวนการ ดังนี้ (1) การลดการเกิดขยะมูลฝอย ได้แก่ ปฏิเสธ/หลีกเลี่ยงไม่รับถุงพลาสติกและกล่องโฟม ลดการใช้ เพิ่มการใช้ซ้ำ (2) การคัดแยกขยะเป็น 4 กลุ่มลงถังขยะ 4 ถังให้ถูกต้องคือ (2.1) ถังสีเหลืองใส่ขยะรีไซเคิล คือ เศษกระดาษ แก้ว ขวดพลาสติก กระป๋อง อะลูมิเนียม (2.2) ถังสีเขียวใส่ขยะย่อยสลายได้ คือขยะเปียก เศษอาหาร ใบไม้ (2.3) ถังสีน้ำเงิน(สีฟ้า) ใส่ขยะทั่วไป คือ ขยะย่อยสลายยาก ย่อยสลายไม่ได้ หลอดพลาสติก พลาสติกใส่อาหาร (2.4) ถังสีแดงใส่ขยะอันตราย คือ ขยะสารเคมี หลอดไฟ ทินเนอร์ (3) การเก็บรวบรวม ขนส่งขยะมูลฝอย (4) การหมุนเวียนนำกลับมาใช้ อปท.เป็นต้นแบบการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่ มีการ “สร้างต้นแบบการแยกขยะ ต่อยอดให้การแยกขยะระดับเขตสมบูรณ์ครบวงจร” ซึ่งเน้นให้ประชาชนแยกขยะที่ต้นทาง มีการตรวจประเมิน อปท. เพื่อรับรางวัลทุกปีตาม “โครงการชุมชนปลอดขยะ” (zero waste) ด้วยปริมาณขยะ กทม.วันละหมื่นตัน(2565) เสนอหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ถือเป็นนวัตกรรมของท้องถิ่นโดยแท้

ทั้งนี้ ตามทิศทางแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ.2559-2564 คือ (1) การใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ ตามหลัก3Rs (Reduce, Reuse และ Recycle) (2) การสร้างระบบการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายที่เหมาะสม มีการกำจัดขยะมูลฝอยแบบศูนย์รวมและแปรรูปผลิตพลังงาน (3) สร้างความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย

นี่คือกรอบความคิดทั่วไปในการบริหารจัดการขยะ ที่คนท้องถิ่นจะทราบพื้นฐานดี แต่ประชาชนทั่วไปอาจไม่ทราบ เพราะ มีการกำหนดให้เป็นภารกิจหน้าที่ของ อปท.ในการจัดการขยะตามประกาศการจัดการมูลฝอย พ.ศ.2560 ของกระทรวงมหาดไทยที่ถือเป็นแม่บทหรือคัมภีร์ในการบริหารจัดการขยะของท้องถิ่น โดยเฉพาะ “การจัดการขยะระบบกลุ่มจังหวัด” (Cluster base) หรือ “การจัดการขยะรวม” โดยปัจจุบันมีการรวมกลุ่มพื้นที่ (Clusters)  ในการจัดการมูลฝอยของ อปท.ทั่วประเทศ จำนวน 324 กลุ่ม