ดนตรี / รุ่งฟ้า ลิ้มหัสนัยกุล

 “ดนตรีฮิป-ฮอปก็คือกระเบื้องโมเสก มันสร้างขึ้นมาจากชิ้นส่วนมากมาย หลากสีสัน หลายขนาดและรูปทรง...มันคือรูปแบบงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่ง แล้วมันก็กลายเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมป๊อป ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าแบบสตรีท รองเท้าผ้าใบ ศิลปะข้างถนน หรือไม่ว่าอะไรก็ตามที่หมุนรอบตัวมัน ล้วนแต่ถูกดึงย้อนกลับไปหาฮิป-ฮอป” ดานเต้ รอสส์ ผู้บริหารระดับสูงที่ผ่านยุคสมัยของ บีสตี้ บอยส์, แบรนด์ นูเบียน จนถึง เอ็มเอฟ ดูม

วันที่ 11 สิงหาคม 2023 ถือเป็นวันครบรอบ 50 ปีการถือกำเนิดดนตรีฮิป-ฮ็อปขึ้นบนโลก เริ่มต้นที่งานเลี้ยงต้อนรับเปิดเทอมของ ซินดี้ แคมป์เบลล์ เด็กสาวจากย่านบรองซ์, นิวยอร์ค โดยมี ไคลฟ์ พี่ชายวัย 18 ที่หลงใหลคลั่งไคล้ระบบเสียงมาเป็นคนเปิดแผ่น ซึ่งต่อมารู้จักกันดีในนาม ดีเจ. คูล เฮิร์ค  

จากงานเลี้ยงเล็กๆ วันนี้ ฮิป-ฮอปแทรกซึมเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของคนทั่วโลกนอกเหนือไปจากการกลายเป็นหนึ่งในแนวดนตรีกระแสหลักที่แข็งแรงที่สุด  

ฮิป-ฮอปเป็นการเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เกิดขึ้มาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วยุคหลังอุตสาหกรรมตกต่ำโดยเฉพาะในนิวยอร์ค ที่มีการก่ออาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้น มีความรุนแรงระหว่างกลุ่มแก๊ง กิจการร้านค้าหลายแห่งปิดตัวลง กลายเป็นที่ที่ให้คนหนุ่มสาวใช้ถนนและตึกร้างเหล่านั้นเป็นที่แสดงออกทั้งความคิดสร้างสรรค์และตัวตน ไม่เพียงเรื่องดนตรี แต่ยังรวมไปถึงนักเต้นเบรคแด๊นซ์และกราฟิตี้ การเติบโตขั้นต่อมาถูกขับเคลื่อนด้วยความโกรธเกรี้ยว การถูกละเลย และความลำบากยากแค้น ทำให้เพลงในยุคนี้มีความรุนแรงอยู่มากทีเดียว

ช่วงกลางทศวรรษ 1980 ถึงต้นทศวรรษ 1990 ถือเป็นช่วงเวลาที่ฮิป-ฮอปเบ่งบาน พวกเขาสร้างบุคลิกที่แตกต่างของตัวเองขึ้นมา ผ่านรูปลักษณ์และดนตรีที่หลากล้วนอิทธิพลได้รับ ความโดดเด่นของพวกเขาทำให้ค่ายเพลงต่างๆมองว่าเป็นทิศทางดนตรีใหม่ที่น่าลงทุน  โดยเฉพาะค่ายเพลงอิสระอย่าง ทอมมี่ บอย, พริสม์ เรคอร์ดส์ และ เดฟ แจม ประสบความสำเร็จอย่างสูง 

ดนตรีฮิป-ฮอปช่วงทศวรรษ 1990 มีจุดเด่นอยู่ที่การแซมพลิ่งหนักมาก อาจเป็นเพราะตอนนั้นยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองการนำเพลง (บางส่วน) ไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นแนวไหน ตั้งแต่ร็อคถึงแจ็ซซ์ ล้วนถูกพวกเขาหยิบจับไปใช้ได้อย่างลงตัวและมีเสน่ห์ จนเมื่อมีการผ่านกฎหมายอีกหลายปีต่อมา พวกเขาจึงต้องหาวิธีทำงานใหม่ สร้างสรรค์ดนตรีของตัวเองขึ้นแทน

ส่วนคำร้องก็มีพัฒนาด้วยเช่นกัน จากที่เป็นคำร้องตามจังหวะก็เปลี่ยนไปเป็นการร้องบนดนตรีที่ผ่านการเรียบเรียงซับซ้อนมากขึ้น สุ้มเสียงใหม่ๆที่มากับสัมผัสปอปช่วยให้ฮิป-ฮอปเข้าสู่ดนตรีกระแสหลัก โดยมี รัน ดีเอ็มซี เป็นหัวขบวน (ร่วมกับเพื่อนร่วมทางอย่าง แอล.แอล. คูล เจ, พับลิค เอนีมี่ และสามหนุ่มผิวขาว เดอะ บีสตี้ บอยส์) พวกเขาใช้แร็ปผสมกับดนตรีฮาร์ด-ร็อกได้กลมกล่อม เพลงอย่าง “Walk This Way” ที่ทำร่วมกับ แอโรสมิธ คืออีกหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์ฮิป-ฮอป ค่าที่มันสามารถเข้าไปติดท็อป 10 บนอันดับเพลง บิลบอร์ด

หลังจากนั้นเป็นต้นมาจนถึงตอนนี้ ฮิป-ฮอปก็สถาปนาตัวเองเป็นหนึ่งในดนตรีกระแสหลัก ผ่านสุ้มเสียง ผ่านสำเนียง ผ่านตัวตนที่แตกต่างกันไปของแต่ละศิลปิน ซึ่งน่าสนใจ (ต่อ) ว่าจะมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนไปอีกหรือไม่ อย่างไร ในอนาคต

 

ขอบคุณภาพจากไอจี @officialdjkoolherc ,เฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/rundmcmusic