วันที่ 18 ส.ค. 2566 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า กรณีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ แถลงข่าวกล่าวอ้างเรื่องซื้อที่ดิน 1,000 ล้าน ระหว่าง บริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด กับ บริษัท เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท จำกัด ซึ่งบริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด อาจเกี่ยวข้องกับนายเศรษฐา ทวีสิน ที่เคยเป็นผู้ถือหุ้นหรือเคยเป็นกรรมการอยู่ด้วย ซึ่งต่อมาวันที่ 15 ส.ค. 2566 บมจ.แสนสิริ ได้มีหนังสือชี้แจงต่อกรณีดังกล่าว ดังความที่ปรากฏโดยทั่วไปแล้วนั้น
นายเรืองไกร กล่าวว่า กรณีดังกล่าว เป็นที่สนใจของสื่อมวลชนอย่างแพร่หลาย กรณีจึงควรมีการสอบหาข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ต่อไป ดังนั้น ในวันนี้ ตนจึงส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ไปถึงนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เพื่อขอให้สอบหาข้อเท็จจริงเรื่องการซื้อที่ดินของบริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด จากบริษัท เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท จำกัด ว่ามีเส้นทางการเงิน การบัญชี การเสียภาษี ที่ชอบหรือไม่ และธุรกรรมดังกล่าวนายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะเคยเป็นผู้ถือหุ้น หรือ เคยเป็นกรรมการ ของบริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด มีความเกี่ยวข้อง รับรู้ ยินยอม หรือให้ความเห็นชอบ หรือไม่ อย่างไร ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้มีคำแถลงการณ์ หัวข้อ แสนสิริ ยืนยันการซื้อที่ดินทองหล่อถูกต้อง โดยสรุปความได้ว่า กรณีที่ดินทองหล่อ (KHUN by YOO) ถูกต้องตามกฎหมาย โปร่งใส และตรวจสอบได้ ในทุกขั้นตอน (รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย)
ข้อ 2. กรณีดังกล่าว เนื่องมาจากการแถลงข่าวกล่าวอ้างต่อสื่อมวลชนของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ที่ผ่านมา โดยมีนำเสนอรูปภาพแผนผัง หัวข้อ ปั่น บวม ตัดตอน ซึ่งเป็นกรณีการซื้อขายที่ดิน ระหว่างบริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด จากบริษัท เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท จำกัด ประกอบด้วย (รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย)
ข้อ 3. ต่อกรณีดังกล่าว เมื่อตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นจากพยานเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้มีเหตุที่ควรขอให้สอบหาข้อเท็จจริงเรื่องการซื้อที่ดินของบริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด จากบริษัท เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท จำกัด ว่ามีเส้นทางการเงิน การบัญชี การเสียภาษี ที่ชอบหรือไม่ และธุรกรรมดังกล่าวนายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะเคยเป็นผู้ถือหุ้น หรือ เคยเป็นกรรมการ ของบริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด มีความเกี่ยวข้อง รับรู้ ยินยอม หรือให้ความเห็นชอบ ธุรกรรมต่าง ๆ หรือไม่ อย่างไร
ข้อ 4. ตามแผนผัง ปั่น บวม ตัดตอน ประกอบพยานเอกสารต่าง ๆ พบว่า บริษัท เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท จำกัด ซื้อที่ดินดังกล่าว เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2551 ซึ่งต่อมาพบว่า ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2558 บริษัท เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท จำกัด มีผู้ถือหุ้น 4 คน ถือหุ้นคนละ 250,000 หุ้น รวม 1,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท รวมเป็นเงินทุนจดทะเบียน 100,000,000 บาท โดยระบุใบหุ้นลงวันที่ 27 ต.ค. 2551
ข้อ 5. ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2558 บริษัท เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท จำกัด แจ้งเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหม่ 3 คน โดยคนที่ 1 ถือหุ้น 999,998 หุ้น เลขหมายใบหุ้น ตรงกับผู้ถือหุ้นเดิม 4 คน โดยระบุว่า เป็นผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2558 คนที่ 2 และคนที่ 3 ถือหุ้นคนละ 1 หุ้น เลขหมายใบหุ้น ตรงกับผู้ถือหุ้นเดิมคนที่ 4 โดยระบุว่า เป็นผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2558
ข้อ 6. กรณีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2558 ซึ่งห่างกันเพียง 6 วัน กรณีจึงควรสอบหาข้อเท็จจริงว่า ผู้ถือหุ้นเดิม 4 ราย โอนขายหุ้นออกไปอย่างไร มีการชำระเงินค่าหุ้น หรือไม่ โดยวิธีใด เส้นทางการรับจ่ายเงินค่าหุ้นเป็นเช่นไร ผู้ถือหุ้นใหม่ 3 ราย มีการชำระเงินค่าหุ้น หรือไม่ โดยวิธีใด
ข้อ 7. ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่คัดจากสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2560 บริษัท เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท จำกัด มีผู้ถือหุ้น 3 คน โดยมีการแจ้งเปลี่ยนแปลงเฉพาะผู้ถือหุ้นคนที่ 1 ที่ถือหุ้น 999,998 หุ้น จากคนเดิมที่เป็นผู้หญิงมาเป็นคนใหม่ที่เป็นผู้ชาย (รายละเอียดปรากฏตามข่าว) กรณีจึงควรสอบหาข้อเท็จจริงว่า การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นดังกล่าว มีการโอนขายหุ้นออกไปอย่างไร มีการชำระเงินค่าหุ้น หรือไม่ โดยวิธีใด
ข้อ 8. ตามคำแถลงการณ์ของแสนสิริ วันที่ 15 ส.ค. 2566 ได้แนบหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสิบสามโฉนดซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2558 ระหว่าง บริษัท เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท จำกัด ผู้จำนอง กับ บริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด ผู้รับจำนองโดยในสัญญาระบุถึงสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างฉบับลงวันที่ 11 ก.พ. 2558 ไว้ด้วย ซึ่งไม่มีการเปิดเผยสัญญาจะซื้อจะขายไว้แต่อย่างใด กรณีจึงควรสอบหาข้อเท็จจริงว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวมีใจความหรือเงื่อนไขไว้อย่างไร มีการวางเงินมัดจำหรือไม่ เท่าใด มีค่าปรับหรือไม่ และเหตุใดต้องทำสัญญาจำนองไว้ด้วย
ข้อ 9. ตามคำแถลงการณ์ของแสนสิริ วันที่ 15 ส.ค. 2566 กรณีที่ดินทองหล่อ (KHUN by YOO) ระบุตอนท้ายไว้ส่วนหนึ่งว่า “บริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของแสนสิริ ไม่เคยให้กู้ยืมเงินแก่บริษัท เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท จำกัด โดยมีหลักฐานที่อยู่ในสัญญาจำนองฉบับกรมที่ดิน ...” นั้น ย่อมเข้าใจได้ว่า แสนสิริ ยอมรับข้อเท็จจริงบางส่วน และปฏิเสธบางส่วน จากผัง ปั่น บวม ตัดตอน ของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ กรณีจึงควรสอบหาข้อเท็จจริงว่า บริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด ซึ่งมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วเพียง 2,500,000 บาท (จากทุนที่จดไว้ 10,000,000 บาท) เอาเงินจากไหนมาซื้อที่ดินทองหล่อ จ่ายชำระค่าที่ดินอย่างไร กี่ขั้นตอน ขั้นตอนจะซื้อจะขายที่ดินมีการวางเงินมัดจำหรือไม่ เท่าใด ใช้เงินจากบัญชีใด ขั้นตอนการจดนิติกรรมซื้อขายที่ดินมีการจ่ายเงินเท่าใด ใช้เงินจากบัญชีใด จ่ายโดยแคชเชียร์เช็คของธนาคารใด เช็คหรือเงินดังกล่าวมีเส้นทางการเงินในทุกขั้นตอนไปเบิก-ถอนเข้าบัญชีใครบ้าง
ข้อ 10. ตามผัง ปั่น บวม ตัดตอน นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ กล่าวอ้างเป็นแผนภาพว่า ณ วันที่ 11 ก.พ. 2558 แสนสิริ ได้ให้บริษัท เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท จำกัด กู้ 1,000 ล้านบาท นั้น บริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด ซึ่งปัจจุบันมี แสนสิริ ถือหุ้น 999,998 หุ้น จากจำนวน 1,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 2.50 บาท และเคยมีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นผู้ถือหุ้นหรือกรรมการ ด้วยนั้น เมื่อ แสนสิริ แถลงข่าวปฏิเสธว่าไม่เคยให้กู้ยืมเงินแก่บริษัท เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท จำกัด กรณีจึงควรสอบหาข้อเท็จจริงจากทั้งสองฝ่าย โดยควรเชิญนายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ มาให้ข้อมูลและส่งพยานหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องให้คณะกรรมิการฯ และควรเชิญนายเศรษฐา ทวีสิน มาให้ข้อมูลและส่งพยานหลักฐานทั้งหมดให้คณะกรรมิการฯ อีกทางหนึ่งด้วย เช่น รายชื่อผู้ถือหุ้น รายชื่อกรรมการ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน สัญญาจำนองที่ดิน สัญญาซื้อขายที่ดิน เอกสารการเสียภาษีและค่าธรรมเนียมในการทำนิติกรรม เอกสารใบสำคัญรับ-จ่ายทางบัญชี เอกสารทางการเงิน ของบริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด กรณีกรณีที่ดินทองหล่อ (KHUN by YOO) ทั้งนี้ เพื่อแสดงความโปร่งใสตรวจสอบได้ และเพื่อพิสูจน์ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรับรู้กับกรณีดังกล่าว หรือไม่ อย่างไร และข้อกล่าวอ้างของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ มีข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้หรือไม่ อย่างไร