กยท. จับมือภาคเอกชน และจีน เสริมแกร่งอุตสาหกรรมยางพารา พัฒนา “โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการซื้อขายคาร์บอนเครดิตแบบสมัครใจ” หวังลดปัญหาก๊าซเรือนกระจก ควบคู่สร้างรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) พร้อมด้วย นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล ประธานกรรมการ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ ตัวแทนจาก China Environment & Carbon Net-Zero Investment Representatives ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือ “โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการซื้อขายคาร์บอนเครดิตแบบสมัครใจ” เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมในการลดปัญหาก๊าซเรือนกระจก ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางประเทศไทย ณ สำนักงานตลาดกลางยางพารา จังหวัดเชียงราย

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า การจัดการคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยเป็นเรื่องที่สำคัญที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ ซึ่งต้นยางพาราเองเป็นพืชที่มีศักยภาพในการดำเนินกิจกรรมนี้ ทั้งนี้ กยท. ได้พยายามผลักดันการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตภายใต้แนวคิดการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง โดยมีการทำโครงการนำร่อง 3 พื้นที่ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี จันทบุรี และเลย ส่วนความร่วมมือบริษัทไทยรับเบอร์ และตัวแทนจากจีนครั้งนี้ เพื่อพัฒนาแนวทางในการดำเนินงานคาร์บอนเครดิตจากต้นยางพาราในประเทศไทย

ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า เหตุที่ริเริ่มที่ จ.เชียงราย เพราะบริษัทไทยรับเบอร์ มีโรงงานตั้งอยู่ที่นี่ และสวนยางเนื้อที่ประมาณ 2 หมื่นไร่ แรกเริ่มบริษัทไทยรับเบอร์ พยายามผลักดันการทำคาร์บอนเครดิตในสวนยาง จึงนำมาขยายผลให้กลายเป็นโครงการนำร่องที่ จ.เชียงราย กลายเป็นความร่วมมือระหว่างทั้งสามฝ่าย

ด้านนายวรเทพ วงศาสุทธิกุล ประธานกรรมการ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เวลานี้คาร์บอนเครดิตมีการซื้อขายกันทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ซึ่งทางบริษัทฯ ได้ศึกษาข้อมูลจนพบว่า ต้นยางพาราของเราสามารถขายคาร์บอนเครดิตที่เก็บไว้ในต้นยางได้ จึงถือเป็นข่าวดีต่อเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราทั่วประเทศ หากเราสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ และยังสามารถสนับสนุนให้ชาวสวนยางมีรายได้พิเศษได้ เลยคิดว่าควรจะเร่งดำเนินการให้เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

นายวรเทพ กล่าวอีกว่า ประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ เป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องซื้อคาร์บอนเครดิตเป็นการทดแทน ช่วงเวลานี้เองจึงได้ บริษัทในเมืองจีน ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนและได้ลงทุนอยู่ที่ฮ่องกง ให้ความสนใจมาลงทุนให้ว่าคาร์บอนเครดิตที่เก็บไว้ในต้นยางของเรา แปลงออกมาเป็นเงินได้เท่าไหร่ ซึ่งทางประเทศจีนเองก็จะได้ประโยชน์จากการซื้อคาร์บอนเครดิตจากประเทศไทยอีกทอดหนึ่ง แต่การจะลงทุนสำรวจพื้นที่ได้นั้นต้องมีเนื้อที่อย่างน้อยแสนไร่ขึ้นไป เพื่อที่จะได้คุ้มทุนกับการลงทุน คาดใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 40-50 ล้านบาท ฉะนั้น จึงอยากเสนอให้ กยท.ผลักดัน จ.เชียงราย เป็น Sandbox ต้นแบบในการศึกษาและลงทุนเรื่องการขายคาร์บอนเครดิตจากต้นยางพารา เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ หากทำสำเร็จ จะกลายเป็นโมเดลสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยางพารา

ขณะที่ตัวแทนจากประเทศจีน กล่าวว่า โครงการดังกล่าวทางประเทศจีน มีความสนใจและพร้อมที่จะศึกษาและสนับสนุน เพราะเห็นถึงประโยชน์ในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกของโลก  พร้อมทั้งได้สนับสนุนเกษตรกรต่างๆ และหวังว่าในอนาคตจะได้ร่วมมือและสนับสนุนโครงการต่างๆ กับ กยท. ในการพัฒนาร่วมกันต่อในระยะยาว