ปมขโมยไม้พะยูงของกลางที่ จ.กาฬสินธุ์ ส่อบานปลายไม่จบง่าย “ส.ส.วิรัช” หยิบยกปัญหา เข้าไปถกในสภา เชื่อเป็นเรื่องใหญ่โยงใยเจ้าหน้าที่รัฐนอกรีตแอบเข้าไปมีส่วนรู้เห็น ส่วนธนารักษ์พื้นที่ ในฐานะเจ้าของทรัพย์ยังปิดปากเงียบ ทั้งๆที่เป็นข่าวดังไปทั่วประเทศ อ้างว่าไม่ขอให้ข่าว เพราะเป็นอำนาจของอธิบดีฯ ด้านการติดตามหาผู้กระทำผิด ตำรวจเริ่มตีวงแคบมากขึ้น ชาวบ้านรอเปิดโปงทั้งขบวนการ
วันที่ 17 สิงหาคม 2566 เวลา 11.30น. มีรายงานว่า ที่รัฐสภาเกียกกาย ที่ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 1 ครั้งที่ 8 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ในวาระที่ 2 เกี่ยวกับการรับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ครั้งที่ 18 (เดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2564) ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้อภิปรายแผนการปฏิรูปทั้ง 12 ด้าน โดยนายวิรัช พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายรายงานการปฏิรูปประเทศ 2 ด้าน คือ ด้านพลังงานและด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สะท้อนปัญหาการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลและกลไกของรัฐ โดยชี้ให้เห็นว่าแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานประชาชนและรัฐถูกพ่อค้าคนกลางเอารัดเอาเปรียบมาตลอดทำให้ราคาด้านพลังงานสูงผิดปกติ ขณะที่ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมป่าไม้โดยเฉพาะไม้มีค่าเช่นพะยูงถูกลักลอบตัดเป็นจำนวนมากจนเกิดปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและการก่อปัญหากลไกของรัฐและระบบราชการประชาชนขาดความเชื่อมั่นศรัทธา ความเหลื่อมล้ำทางด้านยุติธรรม
ส.ส.วิรัช กล่าวว่า ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะไม้พะยูงในระยะหลังเกิดขึ้นมาในพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะจ.กาฬสินธุ์ ที่ถูกพุ่งเป้าไปที่ “ไม้พะยูง” ที่ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ดูแลของทางราชการ ไม่ว่าจะเป็น วัด โรงเรียน หรือในพื้นที่กรมธนารักษ์ ที่ยังเหลือไม้พะยูงจำนวนมาก มีการจัดประมูลไม้พะยูงไปขายทอดตลาด ซึ่งปัญหาการตัดไม้ขณะนี้ ก็ตกเป็นข่าวหลายวันในพื้นที่ ก็ยังไม่มีข้อสรุป จึงเชื่อว่ากรณีนี้อาจจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่ จึงต้องการความกระจ่างให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะป่าไม้ถือเป็นหัวใจหลักของความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ แต่ก็ต้องขอชื่นชมการปลดล็อกให้มีการตัดไม้พะยูงในที่ดินของประชาชนได้ในปี 2562 แต่ขณะนี้เมื่อมีการลับลอบตัดไม้ในพื้นที่หลวง จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ขึ้นเพราะเชื่อว่าเกิดจากปัญหาช่องว่างทางกฎหมาย
รายงานแจ้งว่า คดีไม้พะยูง 7 ท่อน มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท ที่หายไปจากสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ อย่างไร้ร่องรอยเมื่อช่วงคืนวันที่ 5 ส.ค.66 ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสว่ามีบุคคลของรัฐไม่น้อยกว่า 6 คนเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ให้การปฏิเสธกับพนักงานสอบสวน ถึงวันนี้ผ่านมา 12 วันยังไม่มีความคืบหน้าของคดี ขณะที่ชาวบ้านเกิดความสงสัยในความล่าช้า และสังคมยังจับตามมองการทำงานของฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าจะสามารถติดตามขบวนการมอดไม้มาดำเนินคดีได้หรือไม่
ทั้งนี้ เรื่องไม้พะยูงหายดังกล่าว เริ่มแดงและเป็นข่าวดังมาตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค.66 ที่ผ่านมา หลังจากนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้รับแจ้งจากพลเมืองดี ขณะจัดรายการผู้ว่าฯพบประชาชนทางสถานีวิทยุฯ ต่อมาวันที่ 9 ส.ค.66 ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า จ.กาฬสินธุ์ (คปป.จังหวัด) ที่ห้องประชุมฟ้าแดดสงยาง ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ โดยมีนายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานประชุม มีคณะอนุกรรมการฯ ประกอบด้วยหน่วยงาน บุคลากรด้านปกครอง ป่าไม้และที่ดิน เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง เช่น นายนิยม กิตติวงศ์ตระกูล ผู้อำนวยการส่วนทรัพยากรธรรมชาติฯ นายประจัน ดาวังปา ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้กาฬสินธุ์ นายไสว สะอาด ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ นายอิทธิพล กาฬอ่อนศรี เจ้าพนักงานที่ดินกาฬสินธุ์ นายเอกรัตน์ มิสา นายอำเอยางตลาด บรรยากาศเป็นไปด้วยความเข้มข้น เนื่องจากประเด็นส่วนใหญ่เป็นปัญหาการบุกรุก ทำลาย และลักลอบตัดไม้ในพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้และกรมธนารักษ์
โดยในการประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าฯครั้งนั้น นายไสว สะอาด ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์กล่าวว่า ในกรณีการตัดไม้พะยูงและไม้ชนิดอื่น ในพื้นที่ส่วนงานรับผิดชอบของธนารักษ์กาฬสินธุ์ โดยเฉพาะโรงเรียน ทั้งการขออนุญาตก่อนตัดและถูกลักลอบตัดนั้น เกิดขึ้นบ่อยครั้ง สำหรับเหตุไม้พะยูงถูกลักลอบตัดที่สถานีเพาะชำกล้าไม้ฯ ต.อิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เบื้องต้นตนทราบจากการรายงานทางวาจา และเป็นเรื่องที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไปอย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อ ธนารักษ์กาฬสินธุ์ เพื่อขอความคืบหน้าคดีและประเด็นที่เกี่ยวข้องอื่นๆกับธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ทั้งทางโทรศัพท์และที่สำนักงาน แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ล่าสุดทราบจากเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ว่า ท่านธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ไม่ขอให้ข้อมูลใดๆ เพราะไม่ใช่อธิบดีกรมธนารักษ์
อย่างไรก็ตาม ในส่วนความเคลื่อนไหวของฝ่ายสืบสวนสอบสวนและตรวจสอบข้อเท็จจริง ในการติดตามขบวนการมอดไม้มาดำเนินคดี ทั้งฝ่ายตำรวจและฝ่ายปกครอง มีรายงานว่าตำรวจภูธร ภาค 4 ยังได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามอย่างใกล้ชิด
ขณะที่มีการรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนที่จะมีการตัดทอนท่อนไม้พะยูงจากที่เกิดเหตุ มาไว้ที่หน้าเสาธงของสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ เมื่อวันที่ 26 ก.ค.66 ที่ผ่านมานั้น มีการร่างบันทึกโดยผู้นำชุมชนที่อยู่ในเหตุการณ์ ในลักษณะเหมือนพนักงานสอบสวนร่างบันทึกขณะออกตรวจสถานที่เกิดเหตุทั่วๆไป ซึ่งมีใจความสำคัญว่ามีมติให้ขนย้ายไม้พะยูงมาเก็บไว้ในสถานที่ดังกล่าว โดยมีหลักฐานยืนยันตามบันทึกแจ้งความไว้ที่ สภ.โนนสูง ส่วนความคืบหน้าหรือรายละเอียดอื่นๆ อยู่ในสำนวนของเจ้าหน้าที่ ซึ่งระบุว่าตีวงแคบเข้ามาทุกขณะ