นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า คณะถ่ายทำภาพยนตร์ The Meg 2 : The Trench จากสหราชอาณาจักรฯ ได้ติดต่อประสานงานกรมการท่องเที่ยว (DOT) กองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ (Thailand Film Office) เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2564 เพื่อเข้าพบและนำเสนอ Project การถ่ายทำในประเทศไทย ซึ่งกรมการท่องเที่ยวได้แนะนำสถานที่ถ่ายทำที่เหมาะสมกับภาพยนตร์ โดยเฉพาะทะเลทางภาคใต้ของไทยที่มีความสอดคล้องกับบทภาพยนตร์ รวมทั้งแนะนำมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย Incentive และการอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ให้แก่คณะถ่ายทำ
โดย The Meg 2 : The Trench เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาลงทุนถ่ายทำตามสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 เมษายน - 18 พฤษภาคม 2565 โดยคณะถ่ายทำได้ปักหลักถ่ายทำในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และยังมีบางส่วนถ่ายทำในพื้นที่จังหวัดกระบี่และจังหวัดสมุทรปราการ อาทิ หาดพาราไดซ์ อำเภอกระทู้ ภูเก็ต แอร์พาร์ค อำเภอถลาง ถลางมณีคราม อำเภอเมืองภูเก็ต เกาะห้อง อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี จังหวัดกระบี่ และเดอะ สตูดิโอ พาร์ค อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีบริษัทอินโดไชน่า โปรดักส์ชั่น (สยาม) จำกัด เป็นผู้ประสานงานการถ่ายทำ
ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ทำให้คณะถ่ายทำตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยครั้งนี้ คือ การเข้าร่วมมาตรการ Incentive ในรูปแบบการคืนเงิน (Cash Rebate) จำนวนร้อยละ 20 จากงบลงทุนในประเทศไทยมากกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งสามารถสร้างงานให้กับทีมงานชาวไทย และกระจายรายได้ไปสู่ภาคธุรกิจภาพยนตร์ ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง จำนวนมากกว่า 3,500 ราย โดยมีค่าใช้จ่ายหลัก เช่น ค่าจ้างทีมงานชาวไทย จำนวน 33% ค่าเช่าอุปกรณ์ถ่ายทำ 24% ค่าที่พัก 18% เป็นต้น
ซึ่งจากการรายงานจากสื่อต่างประเทศ รายได้ของภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ “The Meg 2: The Trench เม็ก 2: อภิมหาโคตรหลามร่องนรก” ในช่วงสัปดาห์แรกของการเข้าฉาย สามารถสร้างรายได้รวมทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 5,500 ล้านบาท มากกว่าเงินลงทุนที่ 4,600 ล้านบาทกว่า โดยเฉพาะตลาดภาพยนตร์ในสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ได้รับกระแสตอบรับดีมาก และคาดการณ์รายได้น่าจะมากกว่า 17,800 ล้านบาท
สำหรับกรมการท่องเที่ยว (DOT) ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ที่มีภารกิจในการพิจารณาอนุญาต ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่กองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการถ่ายทำของคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ทั้งการสนับสนุนด้วยมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย (Incentive Measures) การลดขั้นตอนการขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ การประชาสัมพันธ์ในงานเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศ รวมถึงการแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกให้กับกองถ่ายต่างประเทศ เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศ สร้างงานให้กับบุคลากรชาวไทย และกระจายไปสู่ชุมชนท้องถิ่นที่เป็นสถานที่ถ่ายทำ รวมทั้งภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งในภาคอุตสาหกรรมภาพยนตร์และภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ สามารถติดตามข่าวสารการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ผ่านทาง Facebook: TFO Thailand Film Office