เมื่อเวลา 13.40 น. วันที่ 16 ส.ค. 66 ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ ไม่รับคำร้องในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบกับการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีรอบสอง เป็นญัตติทั่วไป ห้ามนำเสนอญัตติซ้ำอีก ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 หรือไม่ ว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง แปลความว่าไม่ได้มีการพิจารณาในเนื้อหาสาระของข้อเท็จจริง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ตีตกในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้เป็นผู้ที่มีสิทธิ์ร้อง ซึ่งเป็นเรื่องของเทคนิคและกระบวนการ พรรคก้าวไกลเล็งเห็นในเรื่องนี้ และยืนยันมาโดยตลอดว่ากรณีเช่นนี้เป็นกรณีที่สภาควรหารือกันเองได้ ไม่จำเป็นต้องให้องค์กรภายนอก เช่น ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามา อะไรก็ตามที่ทำผิดหรือไม่ถูกต้อง โดยหลักการแล้ว สภามีอำนาจในการแก้ไขปรับปรุง จึงเป็นที่มาของการที่ในวันที่มีการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งก่อนนั้น พรรคก้าวไกลมีมติและมีการรับรองถูกต้อง เสนอเพื่อให้สภาได้มีการทบทวนในกรณีที่สภาเคยมีมติว่า ญัตติที่เสนอชื่อนายพิธา ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำ ไม่สามารถทำได้ เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย 

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ดังนั้น ในการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไป ที่จะต้องรอประธานรัฐสภากำหนดวาระประชุมรัฐสภา พรรคก้าวไกลยืนยันที่จะเสนอต่อไป และหวังว่ากระบวนการนี้ จะทำให้สภาทำในสิ่งที่ถูกต้อง พร้อมย้ำว่า การที่พรรคก้าวไกลจะเสนอเช่นนี้ไม่ใช่การตีรวนทางการเมือง เพราะทุกคนรู้ว่าเราไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะเสนอนายกรัฐมนตรีได้แล้ว ซึ่งสถานะของการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไม่ว่าใครก็แล้วแต่เป็นสถานะตามรัฐธรรมนูญ 

“ไม่ใช่ว่าพอเสนอกันไป แล้วสุดท้ายไม่ผ่านในรอบแรก คุณจะมาบอกว่าสถานะนั้นไม่มีอีกแล้ว การคิด พิจารณากันแบบนี้ นี่คือการเล่นการเมือง โดยที่ไม่ได้พิจารณาบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงตามข้อกฎหมาย เรายืนยันว่า การเสนอชื่อ ไม่ว่าจะเป็นนายพิธาก็ดี หรือในอนาคตจะเป็นท่านอื่น ปรากฎว่ารอบแรกไม่ผ่าน รอบต่อไปเขาก็ยังเสนอได้ เราก็ยืนยันแบบนั้น” นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องมีกระบวนการให้สภาได้พิจารณาทบทวนต่อไป หากประธานรัฐสภามีการเสนอให้มีการพิจารณาการเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลยืนยันว่าจะเสนอญัตตินี้ต่อไป 

เมื่อถามว่า นายพิธาจะยื่นเรื่องในกรณีนี้เองหรือไม่ ในฐานะที่เป็นผู้เสียหาย นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เราไม่ยื่นแน่นอนซึ่งเราเคยพูดหลายครั้งแล้วว่าเราเป็นเป้าของกรณีที่ไม่ให้มีเสนอนายกรัฐมนตรีซ้ำ แม้เราจะโดนกับตัวเอง แต่เราก็ยืนยันมาโดยตลอดว่ากิจการตรงนี้ เป็นกิจการของสภา ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรเข้ามา เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจึงอยากใช้กลไกของสภาทำให้ถูกต้อง และเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด ดังนั้น จะไม่เห็นนายพิธา เสนอเรื่องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน

เมื่อถามว่า เสียงจะพอหรือไม่ ในเมื่อขณะนี้พันธมิตรที่จะร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล ได้แยกวงไปแล้ว นายรังสิมันต์กล่าวว่า เป็นเรื่องหลักการ ณ จุดนี้เราไม่ได้เสนอเพื่อตัวเอง ไม่ได้เสนอเพื่อให้นายพิธากลับมามีโอกาสในการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกครั้งด้วยซ้ำ เพราะสถานการณ์ตอนนี้ นายพิธาไม่ได้อยู่ในจุดนั้นแล้ว แต่การเสนอเช่นนี้เป็นหลักการที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ว่าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจะชื่ออะไร ก็ได้ประโยชน์จากการเสนอของพรรคก้าวไกลทั้งสิ้น เว้นเสียแต่ว่ามีบางกลุ่ม บางพวก ที่คิดเอาไว้แล้ว ว่าต้องการจะวางสนุ๊ก วางหมากให้การเสนอนายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นได้ครั้งเดียว ซึ่งอาจจะมีเหตุผลแบ่งเป็นกรณี คือ1.เพื่อให้พรรคก้าวไกล หรือบางพรรคการเมืองไม่ผ่าน แล้วหวังว่าตัวเองจะได้ประโยชน์ 2.เป็นการปูทางไปสู่นายกรัฐมนตรีคนนอก ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 แต่ตนคิดว่า การที่กำหนดให้การเสนอนายกรัฐมนตรีทำได้ครั้งเดียว ไม่ใช่เจตนาที่ดีแน่ๆ

เมื่อถามถึงกรณีในการประชุมรัฐสภาครั้งที่แล้วประธานรัฐสภาได้ใช้อำนาจในการวินิจฉัยการเสนอให้ทบทวนญัตตินี้แล้วนั้น ได้มีการพูดคุยกันหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า สถานะของญัตติคืออะไร ยอมรับว่าเป็นปัญหา เพราะกระบวนการของเรามีการรับรองถูกต้อง ไม่ใช่แค่ของพรรคก้าวไกล แต่ในกรณีของนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ก็ถูกต้องด้วย โดยหลักแล้วต้องพิจารณา ไม่มีอำนาจในข้อบังคับ ที่ให้ประธานรัฐสภาวินิจฉัย ว่าการเสนอญัตตินี้เสนอไม่ได้ ซึ่งพวกเราพร้อมรับฟัง จะฟังอย่างตั้งใจและเป็นมืออาชีพ หากการเสนอดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือขัดต่ออะไร แต่ประธานรัฐสภาก็ไม่ได้อ้างข้อกฎหมายเลย ชี้แจงเพียงอย่างเดียวว่าให้รอศาลรัฐธรรมนูญอย่วงรุนแรง พวกเราพร้อมรับฟัง และจะฟังอย่างตั้งใจเป็นมืออาชีพ หากการเสนอดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือขัดต่ออะไร เนื่องจากกรณีนี้อยู่ในกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ได้มีการระบุในกฎหมายว่าระหว่างที่รอคำวินิจฉัยเราจะทำในเรื่องการทบทวนไม่ได้ เพราะฉะนั้น เรื่องนี้จึงไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของข้อกฎหมาย ตนเข้าใจว่าประธานรัฐสภา มีเจตนาที่หวังดี อยากให้กระบวนการมีความชัดเจนก่อนแล้วค่อยมาว่ากัน แต่ถ้าพิจารณาด้วยเหตุผล การรอต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีความชัดเจนและไม่ถูกต้อง สร้างความเสียหายต่อบ้านเมือง

เมื่อถามต่อว่า เมื่อผลออกมาเช่นนี้ การเสนอชื่อต่อจากนี้ก็ต้องเสนอเพียงครั้งเดียว และเปลี่ยนคน ใช่หรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนกังวลว่าจะไปสู่จุดนั้น นี่จึงเป็นเหตุผลในการขอให้มีการทบทวน เพราะหากกลายเป็นบรรทัดฐาน จะกระทบต่อการเสนอชื่อบุคคลในตำแหน่งอื่นๆ ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก 

เมื่อถามว่าการทบทวนในครั้งหน้า จะเกิดขึ้นก่อนการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไปหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ต้องรอคุยกับประธานรัฐสภาก่อน เบื้องต้น หากพิจารณาจากการประชุมในครั้งที่แล้ว โดยหลักจะต้องพิจารณาญัตติของตนก่อน แต่ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าคำวินิจฉัยของประธานรัฐสภาที่มีการถกเถียงกัน และนำไปสู่การปิดประชุมนั้น มีสถานะอย่างไร หากจะพูดอย่างเป็นธรรม เราต้องมีการหารือกับประธานรัฐสภาว่าจะมีข้อสรุปในเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งในความเห็นของเรา เชื่อว่าเมื่อมีผู้รับรองถูกต้อง ก็ต้องถือเป็นญัตติแล้ว และจะต้องถูกบรรจุลงในวาระ แต่ในกรณีนี้อาจจะไม่เข้าใจตรงกันทุกฝ่าย จึงต้องมีการพูดคุย

เมื่อถามว่า การเสนอให้มีการทบทวนญัตติจะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า คงต้องลองดูตนมองว่าจุดประสงค์ในรอบที่แล้ว คือต้องการทำลายพรรคก้าวไกล ต้องการเล่นงานนายพิธา

“เราจะเผาบ้านเพื่อไล่หนูหรือ วันนี้คุณก็ได้ทุกอย่างไปหมดแล้ว คำถามคือคุณจะยังคงเผาบ้านต่อไปเพื่ออะไร” นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า เราจึงหวังว่าจะทำให้กลับมาสู้หลักการที่ถูกต้องได้ แต่ยังตอบไม่ได้ว่าสุดท้ายที่ประชุมจะว่าอย่างไร