เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 16 ส.ค. 66 ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงกรณีขอเสนอญัตติ เรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า พรรคก้าวไกลยืนยันมาตลอด ว่าภารกิจที่สำคัญในการฟื้นฟูประชาธิปไตย และคืนความปกติให้ประเทศไทย คือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อแทนที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ซึ่งพรรคก้าวไกลมองว่าขาดความชอบธรรม ทั้งกระบวนการ เนื้อหา และที่มา และมีส่วนในการนำพาประเทศไทยมาสู่วิกฤติทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งการดำเนินจัดทำตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น มีความเป็นไปได้ที่ประชาชนต้องเข้าคูหา 4 ครั้ง แบ่งเป็น 1.ประชามติว่า เห็นด้วยหรือไม่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก่อนจะมีการเสนอร่างใดเข้ารัฐสภา 2.ประชามติว่า เห็นด้วยหรือไม่กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การมี สสร. มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยจัดทำหลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านการเห็นชอบ 3 วาระของรัฐสภา 3.เลือกตั้ง สสร. ว่า อยากให้ใครเป็นตัวแทนประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 4. ประชามติว่า เห็นด้วยหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ถูกร่างโดย สสร.

โดยขั้นตอนแรก คือการจัดทำประชามติครั้งที่ 1 ซึ่งต้องจัดทำก่อนที่จะมีการเสนอแก้ร่างรัฐธรรมนูญใดๆ ที่เกี่ยวกับสสร. เข้าสู่สภา เพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนว่า เห็นด้วยหรือไม่ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และแม้การจัดทำประชามติในคร้้งที่ 1 นี้ อาจไม่มีความจำเป็นในแง่ของกฎหมาย แต่เราและอีกหลายฝ่ายมองว่า หากผลประชามติออกมาขัดเจน ว่าประชาชนส่วนใหญ่อยากให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผลของประชามตินั้นจะทำให้ไม่ว่าใคร หรือเรื่องอะไร จะสามารถขัดเจตนารมณ์ของประชาชนได้ ทั้งนี้ หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า นี่คือกระดุมเม็ดแรกของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะต้องรีบติดโดยเร็ว

แต่ที่ตนต้องมาแถลงในวันนี้ เพราะปีศาจอยู่ในรายละเอียดที่สำคัญของประชามติที่จะเกิดขึ้น ซึ่งก็คือคำถามที่จะใช้สอบถามกับประชาชนในมติครั้งนั้น หากเราต้องการให้ประชามตินี้ นำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สะท้อนฉันทามติได้จริง พรรคก้าวไกลจึงเสนอคำถามในการทำประชามติครั้งที่ 1 ดังนี้ 1.เห็นชอบหรือไม่ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นฉบับปัจจุบัน โดยสสร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ด้วยเหตุผล 4 ประการ 1.คำถามลักษณะนี้คือการถามถึงหลักการสำคัญว่าควรมึการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ 2.เป็นคำถามถึงหลักการสำคัญว่าสสร. นั้น ควรจะมาจากการเลือก 100% หรือไม่ แต่ไม่ลงรายละเอียดจนเกินไป 3.เป็นคำถามที่เข้าใจง่าย ไม่ชี้นำ 4.เป็นคำถามที่ ทุกพรรคการเมืองหลักจากสภาชุดที่แล้ว เคยลงมติเห็นชอบมาแล้ว

ในส่วนของกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยจะต้องอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ2564 ที่เปิดให้มีการจัดประชามติได้ผ่าน 3 กลไก คือ 1.ครม. เสนอ และครม.เห็นชอบให้จัดประชามติ 2.สมาชิกรัฐสภา เสนอ และสส., สว.เห็นชอบ ให้จัดประชามติ 3.ประชาชน 50,000 คน เสนอ และครม. เห็นชอบให้จัดประชามติ

นายพริษฐ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เพื่อความรวดเร็วในการจัดทำประชามติในครั้งนี้ ไม่มีเหตุผลที่จะต้องเลือกทางใดทางหนึ่งแต่สามารถดำเนินการผ่านทั้ง 3 กลไกคู่ขนานกันได้ ฉะนั้น พรรคก้าวไกล และสส.ของพรรค จึงจะขอใช้กลไกที่ 3 ของสภา ในการเสนอญัตติด่วน เพื่อให้สส.พิจารณาเห็นชอบ และแจ้งให้ครม.จัดทำประชามติ เพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งนี้ ตนขอความร่วมมือจากทุกพรรคการเมืองที่เคยประกาศว่าเห็นชอบว่าควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้มาร่วมมือกับเราใน 2 ประเด็น 1.ร่วมมือกับเราให้ญัตตินี้ถูกพิจารณาโดยเร็วที่สุด ทันทีที่มีการบรรจุระเบียบวาระการประชุมสส.สัปดาห์หน้า 2.เห็นด้วยกับเราและยึดคำถามในการทำประชามติข้างต้น

เมื่อถามว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ สว. บางคนกังวลว่าจะไปแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 หรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ต้องชี้แจงว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขการปกครองได้ เพราะมาตรา 255 ของรัฐธรรมนูญ 60 กำหมดไว้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดใดก็ตาม ไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง หรือรูปแบบของรัฐได้ ที่ผ่านมาหมวด 1 หมวด 2 ก็มีการแก้ไขมาตลอดทุกครั้งที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขระบอบการปกครองหรือรูปแบบของรัฐแต่อย่างใด  และขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็อนุญาตให้แก้ไข หมวด 1 หมวด 2 ได้ แต่ต้องมีการจัดทำประชามติ สอบถามความเห็นจาหประชาชน หลังผ่านการเห็นชอบ 3 วาระในรัฐสภา