วันที่16 ส.ค.2566-ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้มีหนังสือชี้แจงโดยนายนพดล เภรีฤกษ์โฆษก สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาชี้แจงข่าวกรณีการแก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุระบุว่า
ตามที่มีการนำเสนอข่าวว่าการแก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 โดยอ้างอิงการให้ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ในการเสนอแนะการแก้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่าเป็นการดำเนินการที่เกินอำนาจหน้าที่หรือไม่ นั้น
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอเรียนชี้แจงว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) พิจารณาหารือข้อกฎหมายของกรมกิจการผู้สูงอายุ เนื่องจากกรมบัญชีกลางได้มีหนังสือถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพราะเป็นการซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น ซึ่งเห็นว่ามาตรา 48 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติรองรับสิทธิของผู้สูงอายุ ไว้ว่า บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปี และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ และบทบัญญัติดังกล่าวอยู่ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย จึงเป็นบทบัญญัติที่รองรับสิทธิไว้โดยแจ้งชัด สำหรับเงื่อนไขเบื้องต้นที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าว มีเพียงสองประการ คือ อายุเกินหกสิบปี ประการหนึ่ง และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพอีกประการหนึ่ง ดังนั้น นอกจากเกณฑ์เรื่องอายุแล้ว การไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ จึงเป็นหลักเกณฑ์สำคัญที่รัฐจะพึงตรากฎหมายเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือบุคคลที่มีลักษณะดังกล่าวได้ เช่น กำหนดเกณฑ์ที่จะพึงถือว่า “ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ” เป็นต้น
การที่มาตรา 11 (11) พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 บัญญัติว่า การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม นั้น ต้องแปลความให้สอดคล้องกับสิทธิที่ประชาชนได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ การที่ระเบียบเดิมกำหนดไว้จึงไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการกำหนดที่มาของแหล่งรายได้โดยไม่คำนึงว่ารายได้ที่ได้รับจากหน่วยงานของรัฐมีจำนวนเท่าใด บุคคลนั้นอยู่ในฐานะ “ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ” หรือไม่ ผลของการกำหนดเช่นนี้จึงทำให้ผู้มีอายุเกินหกสิบปีทุกคนไม่ว่าจะมีฐานะร่ำรวยเพียงใดหรือมีรายได้ประจำมากมายเพียงใด ถ้าไม่เคยได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐแล้วย่อมมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนตามระเบียบทุกคน ในขณะที่ผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐแม้เพียงจำนวนเล็กน้อยโดยไม่มีรายได้อื่นอีกเลย กลับไม่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพ ผลเช่นนี้ย่อมไม่อาจถือได้ว่ามีลักษณะ “อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม” ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าวเป็นเงื่อนไขที่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายและไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) มีข้อสังเกตว่าการกำหนดกรณีไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพว่ามีรายได้จำนวนเท่าใดนั้น อาจพิจารณาจากข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น รายได้ที่ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีตามฐานข้อมูลของกรมสรรพากร หรือจำนวนรายได้ตามเส้นแบ่งความยากจนจากฐานข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือจำนวนเงินตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างกำหนด ทั้งนี้ เพื่อให้การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุสอดคล้องกับมาตรา 48 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 11 (11) และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546
อนึ่ง สำหรับการที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอความเห็นและข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรีสามารถกระทำได้ตามมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย