ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.41 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง เล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.39 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงและมีการเคลื่อนไหวที่ผันผวนสูง (แกว่งตัวในช่วง 35.31-35.46 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังตลาด sell on fact รายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ขณะที่รายงานข้อมูลตลาดบ้านสหรัฐฯ และดัชนีภาคการผลิตที่สำรวจโดยเฟดนิวยอร์ก กลับออกมาแย่กว่าคาด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง หนุนโดยถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดที่ยังคงออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อของเฟด รวมถึงความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ในช่วงตลาดผันผวน
บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า รายงานยอดค้าปลีกล่าสุดที่ออกมาดีกว่าคาด อาจหนุนการขึ้นดอกเบี้ยต่อของเฟดหรือเฟดอาจคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานกว่าคาด กดดันให้หุ้นเทคฯ ใหญ่ต่างปรับตัวลดลง (Amazon -2.1%, Apple -1.1%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มธนาคาร (BofA -3.2%, JPM -2.6%) หลัง Fitch Rating ส่งสัญญาณว่าอาจปรับลดเครดิตเรทติ้งของธนาคารสหรัฐฯ หลายแห่งเพิ่มเติม ทำให้โดยรวม ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.16%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลงกว่า -0.93% กดดันโดยแรงขายหุ้นธีม China-recovery อาทิ หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม หุ้นกลุ่มพลังงาน และหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ (LVMH -1.5%, Shell -1.1%, Rio Tinto -1.3%) หลังผู้เล่นในตลาดต่างยังคงกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน ท่ามกลางรายงายข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดที่ยังคงอ่อนแอ่ และปัญหาหนี้ภาคอสังหาฯ ที่กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง
ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ที่ผันผวนไปมาในช่วงทยอยรับรู้รายงานยอดค้าปลีก สหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 4.16%-4.26% ก่อนที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 4.22% หลังผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือ คงดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานกว่าคาด อย่างไรก็ดี เรายังคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ระดับสูงกว่า 4.00% ถือว่าเป็นระดับที่น่าสนใจ ในการทยอยเข้าซื้อ โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนที่มีมุมมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น และเฟดอาจจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว และแม้เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับที่เราคาด ผลกระทบต่อบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจมีอย่างจำกัด ซึ่งเราคงมองว่า risk-reward ของการทยอยซื้อในช่วงบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สูงกว่า 4.00% ยังมีความน่าสนใจและคุ้มค่าความเสี่ยง
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนหนักในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด โดยมีทั้งจังหวะอ่อนค่าเร็ว ตามแรงขายทำกำไร ลักษณะ Sell on Fact จากรายงานยอดค้าปลีกที่ดีกว่าคาด ซึ่งส่วนหนึ่งก็ได้รับอานิสงส์จากยอดขายสินค้าออนไลน์ Amazon Prime Day ก่อนที่เงินดอลลาร์จะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังเจ้าหน้าที่เฟดยังคงส่งสัญญาณสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ รวมถึงภาวะปิดรับความเสี่ยงในตลาดการเงิน ก็ยังคงหนุนความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 103.2 จุด (กรอบ 102.8-103.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ความผันผวนของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้ส่งผลกระทบให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) เคลื่อนไหวผันผวนเช่นกัน โดยราคาทองคำมีจังหวะปรับตัวขึ้น ใกล้ระดับ 1,943 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนเผชิญแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงสู่ระดับ 1,932 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ผ่านรายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ซึ่งจะรับรู้ในช่วงเวลาราว 1.00 น. ของเช้าวันพฤหัสฯ นี้ ตามเวลาในประเทศไทย ซึ่งเราคาดว่า เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ก็อาจยังสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อ แต่ก็อาจระบุว่า เฟดนั้นเข้าใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของการขึ้นดอกเบี้ยได้เช่นกัน
นอกจากนี้ในฝั่งอังกฤษ ตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป Headline CPI ของอังกฤษ เดือนกรกฎาคม อาจชะลอลงสู่ระดับ 6.8% จากระดับ 7.9% ในเดือนก่อนหน้า ตามการปรับตัวลดลงของราคาพลังงาน รวมถึงมาตรการคุมราคาแก๊สและค่าไฟฟ้า แต่ทว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI อาจชะลอลงเล็กน้อยสู่ระดับ 6.8% (จาก 6.9%) ทำให้เราประเมินว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ยังมีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง อีก 2 ครั้ง ครั้งละ +25bps จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 5.75%
ส่วนในฝั่งไทย เรามองว่า ยังคงต้องจับตาสถานการณ์การเมืองต่อ เพื่อประเมินแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลผสมว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร โดยตลาดการเงินไทยอาจกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้ หากการจัดตั้งรัฐบาลผสมมีความชัดเจนมากขึ้น
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อได้บ้าง หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น จากความไม่มั่นใจของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ส่วนราคาทองคำก็ยังคงแกว่งตัวใกล้โซนแนวรับสำคัญ ทำให้ผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้ อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลงบ้าง หลังเราพบว่า ผู้เล่นบางส่วนในตลาด โดยเฉพาะบรรดาผู้ส่งออก ต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ ขณะที่แรงขายสินทรัพย์ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติก็มีแนวโน้มชะลอลง หากการจัดตั้งรัฐบาลของไทยมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเราประเมินโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นโซนแนวต้านแรก และโซน 35.75 บาทต่อดอลลาร์ เป็นโซนแนวต้านถัดไป นอกจากนี้ เรายังคงมองว่า เงินบาทอาจจบรอบการอ่อนค่าแถว 35.85-36.00 บาทต่อดอลลาร์ จากที่เราได้ประเมินไว้ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน
อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ เรามองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.30-35.55 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานผลการประชุมเฟดล่าสุด และมองกรอบเงินบาทในช่วง 35.20-35.70 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้รายงานผลการประชุมเฟดล่าสุด