วันที่ 15 สิงหาคม 2566 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยว่า ตามที่ศาลปกครองสูงสุดนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอส) ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) กรณีผิดสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อขอให้ชำระค่าตอบแทนตามสัญญาดังกล่าวในวันที่ 17 ส.ค.2566 เวลา 09.30 น.นั้น ทราบว่าทางศาลปกครองสูงสุดเปิดโอกาสให้กทม. และเคที แถลงข้อมูลเพิ่มเติมจากที่ได้ยื่นอุทธรณ์ไปก่อนหน้านี้ โดยปกติศาลจะพิจารณาจากเอกสารอุทธรณ์ที่ยื่นต่อสู้คดีเป็นหลัก ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่กทม.จะได้ชี้แจงข้อเท็จจริง และเหตุผลที่ไม่สามารถชำระค่าตอบแทนตามสัญญาได้ เนื่องจากสัญญาการจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 2 ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร ทำให้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังพบความผิดปกติในสูตรคำนวณค่าใช้จ่ายในสัญญาจ้างที่ทำร่วมกันซึ่งมีการคำนวณค่าใช้จ่ายบางส่วนสูงเกินจริง ทำให้มูลหนี้สูงเกินจริง นอกจากนี้ ยังติดเงื่อนไขการเจรจาตามคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตรา 44 อีกด้วย

นายวิศณุ กล่าวว่า คดีดังกล่าว ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ กทม.และเคที ร่วมกันชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 1 ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง,สะพานตากสิน-บางหว้า และส่วนต่อขยาย 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต,แบริ่ง-สมุทรปราการ จำนวนเงินกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการฟ้องคดีเรียกค่าชดเชยครั้งแรก อย่างไรก็ตาม กทม.และเคที ได้ปรึกษาสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อเตรียมเอกสารข้อมูลยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุดเรียบร้อยแล้ว