สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎเกณฑ์การเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่มีการจัดโครงสร้างและให้ผลตอบแทนซึ่งมีลักษณะคล้ายหนี้ (debt-liked ICO) และโทเคนดิจิทัลที่มีกิจการโครงสร้างพื้นฐานหรือกระแสรายรับจากกิจการโครงสร้างพื้นฐานเป็นทรัพย์สินอ้างอิง (infra-backed ICO) เพื่อให้มีกลไกการป้องกันความเสี่ยงและการคุ้มครองผู้ลงทุนที่เพียงพอเหมาะสม รวมถึงป้องกันปัญหา regulatory arbitrage กับการออกเสนอขายหลักทรัพย์ที่มีลักษณะคล้ายกัน และส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการระดมทุน
ตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. มีแนวคิดที่จะปรับปรุงกฎเกณฑ์การเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่มีการจัดโครงสร้างและให้ผลตอบแทนซึ่งมีลักษณะคล้ายหนี้ (debt-liked ICO) และโทเคนดิจิทัลที่มีกิจการโครงสร้างพื้นฐานหรือกระแสรายรับจากกิจการโครงสร้างพื้นฐานเป็นทรัพย์สินอ้างอิง (infra-backed ICO) เพื่อให้มีกลไกการป้องกันความเสี่ยงและการคุ้มครองผู้ลงทุนที่เพียงพอเหมาะสม รวมถึงป้องกันมิให้เกิดช่องว่างและปัญหาความเหลื่อมล้ำในกฎเกณฑ์และการกำกับดูแล (regulatory arbitrage) กับการออกเสนอขายหลักทรัพย์ที่มีลักษณะคล้ายกัน และส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการระดมทุน โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 ได้มีมติเห็นชอบหลักการและสำนักงาน ก.ล.ต.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ - 21 มีนาคม 2566 ซึ่งผู้แสดงความเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยกับหลักการในการปรับปรุงกฎเกณฑ์ดังกล่าว
สำนักงาน ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) กรณี debt-liked ICO ที่มีการกำหนดอัตราผลตอบแทนไว้แน่นอน ไม่ผันแปรตามการดำเนินงานของโครงการแต่อาจมีการให้ผลตอบแทนเพิ่มเติม (extra return) ผู้ออกเสนอขายโทเคนดังกล่าวจะต้องมีการจัดทำและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินความน่าเชื่อถือของโครงการอย่างสมเหตุสมผลในการพิจารณาโดย ICO portal หรือผู้เชี่ยวชาญที่เป็นอิสระ รวมทั้งเปิดเผยปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประเมินความเสี่ยงในด้านฐานะและความสามารถในการชำระหนี้คืนของโครงการ และสามารถพิจารณาผลตอบแทนและการลงทุนได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้ลงทุนใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน
(2) กรณี infra-backed ICO ที่เป็นการออกโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนโดยมีกิจการโครงสร้างพื้นฐานเป็นสินทรัพย์อ้างอิง ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากกระแสรายรับที่มาจากกิจการโครงสร้างพื้นฐานนั้น โดยจะปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้เทียบเคียงได้กับกับทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Trust) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน และสอดคล้องกับบริบทของ infra-backed ICO ซึ่งครอบคลุมเรื่องการกำหนดลักษณะของทรัพย์สินอ้างอิง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการตรวจสอบและสอบทาน (due diligence) และการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน หน้าที่และการปฏิบัติงานของทรัสตี การบริหารจัดการทรัพย์สินของ issuer รวมทั้งปรับปรุงข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง