เพชร โอสถานุเคราะห์ นักร้องดัง เจ้าของเพลง เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ) เสียชีวิตแล้ว ในวัย 63 ปี เบื้องต้นสาเหตุจากหัวใจวายเฉียบพลัน (15 ส.ค.66 )

เพชร โอสถานุเคราะห์ เป็นอดีตนักร้องที่โด่งดังมีผลงานที่เป็นที่รู้จักในเพลง เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ) นอกจากนี้เพชรยังเคยเป็นรองประธานกรรมการบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

สำหรับ ประวัติ เพชร โอสถานุเคราะห์ เกิดวันที่ 1 มกราคม 2503 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรชายของสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์ (สกุลเดิม เธียรประสิทธิ์) ซึ่งปองทิพย์เป็นพี่สาวของสปัน เธียรประสิทธิ์ อดีตภรรยาของชรินทร์ นันทนาคร

เพชรเริ่มเรียนที่โรงเรียนสมประสงค์จนถึง ป.3 จากนั้นก็ย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนพิพัฒนา จนถึงชั้น ม.4 จึงย้ายไปเรียนต่อชั้นมัธยมปลายที่ Teaneck High School ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ งสหรัฐ จากนั้นกลับมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็นเวลา 2 ปี แล้วจึงกลับไปเรียนต่อจนจบปริญญาตรีทางด้านบริหารธุรกิจ สาขาการตลาดที่ มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นอิลลินอยส์ และกลับมาทำงานโฆษณา ก่อนออกผลงานเพลง แล้วหันไปทำงานนิตยสารสำหรับผู้หญิง จากนั้นก็ขยายไปทำงานด้านรายการโทรทัศน์ คือ รายการผู้หญิงวันนี้

ความเป็นศิลปินที่มีอยู่ในสายเลือด ยังถูกถ่ายทอดผ่านบทเพลงอย่างที่รู้กันดีว่านักร้อง นักดนตรี ที่ชื่อ เพชร โอสถานุเคราะห์ ฝากชื่อเสียงไว้ในวงการเพลงไม่น้อย มีผลงานแต่งเพลงที่ติดหูอย่างหมื่นฟาเรนไฮต์ที่วงไมโคร ขับร้อง ก่อนที่จะทำอัลบั้มแรกชุดธรรมดา มันเป็นเรื่องธรรมดาที่มีเพลงดังอย่าง เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ) ในปี 2530 และกลับเข้าวงการเพลงอีกครั้งหลังจากหายหน้าไปร่วม 20 ปี เพื่อทำงานเพลงอีกครั้ง ในปี 2550 ได้ออกผลงานอัลบั้มที่สอง “Let's Talk About Love” เขายังบอกด้วยความติดตลกเมื่อคราวให้สัมภาษณ์สื่อว่า ตั้งใจจะออกอัลบั้มใหม่ทุก 20 ปี ซึ่งชุดที่ 3 คงออกตอนที่เพชร อายุ 80 ปี ถ้าวันนั้นเขายังคงมีชีวิตอยู่

โดยเมื่อปี 2552 เพชรก็มาสวมบท “ศิลปินนักการศึกษา” เข้ามาเป็นปรับโฉมมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ผู้พ่อก่อตั้งให้เป็น Creative University หรือ มหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ ตามแนวคิดเปิดกว้าง โดยปักธงวางเป้าไม่หยุดนิ่งในการพัฒนา เมื่อการศึกษาในโลกสมัยใหม่หลายคนอาจมองเป็นวิกฤตมหาวิทยาลัย แต่ “อธิการบดีอินดี้” กลับมอง “Education Disruption คือโอกาส” มีการปรับทิศทาง ยกเครื่องการเรียนการสอนสาขาวิชาใหม่ๆ รับโลกยุคดิจิทัล พร้อมกับประกาศจุดยืน “โลกเปลี่ยนการศึกษาต้องเปลี่ยน”