รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่ราชการกรุงเทพมหานคร เผยคืบหน้าแนวทางบริหารจัดการโรงฆ่าสัตว์กรุงเทพมหานคร ว่า คณะกรรมการบริหารจัดการโรงฆ่าสัตว์กรุงเทพมหานคร มีการประชุมหารือ โดยให้ความสำคัญ2 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ส่วนโรงสุกร ซึ่งสำนักอนามัย (สนอ.) ร่วมกับสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล (สยป.) จัดกิจกรรมเข้าเยี่ยมชมเพื่อให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการโรงฆ่าสุกรของกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 17- 21 ก.ค.ที่ผ่านมา มีผู้เข้าเยี่ยมชมจำนวน 8 หน่วยงาน ได้แก่ 1.คณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล 2.คณะสัตวแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3.คณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ 4.สัตวแพทยสภา 5.เทศบาลเมืองกาญจนบุรี 6.โรงชำแหละเนื้อสุกรสระแก้ว (CPF) 7.โรงแปรรูปสุกรบางคล้า 8.บริษัทสุพรรณอินเตอร์พอร์ค จำกัด

 

ปัจจุบันอยู่ระหว่างสรุปวิเคราะห์ผลข้อคิดเห็นและจัดทำแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่โรงฆ่าสัตว์กรุงเทพมหานครโดยกำหนดแนวทางการศึกษาไว้ 2 รูปแบบ คือ 1.เปิดดำเนินโครงการกิจการโรงฆ่าสัตว์ต่อเหมือนเดิม 2.ปรับเปลี่ยนลักษณะการใช้พื้นที่รูปแบบอื่น โดยทั้ง 2 แนวทางต้องพิจารณาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และศึกษาความเป็นไปได้รอบด้าน เพื่อให้เชื่อมโยงนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและยุทธศาสตร์ของ กทม.ในระยะยาว รวมถึงทบทวนบทบาทภารกิจของหน่วยงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

 

ส่วนที่ 2 โรงโค-กระบือ จากการตรวจสอบสภาพพร้อมใช้งานโดยคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญซึ่งแต่งตั้งโดยสำนักอนามัยหลังจากได้รับมอบคืนพื้นที่จาก บริษัทอินชา 786 จำกัด เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา พบว่า อุปกรณ์และเครื่องจักรชำรุดเสียหาย ได้แก่ เลื่อยผ่าซาก เลื่อยผ่าอก รวมถึงระบบควบคุมเครื่องจักร คณะทำงานฯ ได้ประเมินมูลค่าความเสียหาย ประมาณ 2,166,750 บาท จึงทำหนังสือถึงบริษัทฯให้ชำระค่าเสียหายแล้ว 2 ครั้งภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ แต่บริษัทฯ ยังคงเพิกเฉย สำนักอนามัยจึงส่งเอกสารหลักฐานให้สำนักงานกฎหมายและคดี ส่งเรื่องไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อขอให้พิจารณาจัดพนักงานอัยการว่าต่างฟ้องคดีเรียกให้บริษัทฯ ชดใช้ค่าเสียหาย ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงของพนักงานอัยการ เพื่อจัดทำคำฟ้องและยื่นต่อศาลภายในวันที่ 23 ส.ค.2566