ประกาศผลออกมาไปเป็นที่เรียบร้อย

สำหรับ รายงาน “ดัชนีคุณภาพอากาศไอคิวแอร์ (IQAir)” ที่บริษัทเครื่องฟอกอากาศในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จัดทำขึ้นในแต่ละปีว่า คุณภาพอากาศในแต่ละเมืองของประเทศต่างๆ เป็นเช่นไร มีมลพิษ เป็นมลภาวะมากน้อยเพียงใด และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรกันมากน้อยเพียงไหน ก่อนเปิดเผยให้โลกเราได้ทราบกันทุกปี

โดยรายงานดัชนีคุณภาพอากาศไอคิวแอร์ในปีนี้ คือ 2023 (พ.ศ. 2566) ก็ปรากฏว่า “กรุงจาการ์ตา” เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย ถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่มีคุณภาพอากาศเลวร้ายที่สุด คือ มีมลพิษ เป็นมลภาวะ หนักที่สุด หรืออากาศสกปรกที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก ณ เวลานี้ ยิ่งกว่าเมืองไหนๆ

อันดับที่ได้ในปีนี้ของกรุงจาการ์ตาข้างต้น ก็ถือว่าแซงหน้าบรรดากลุ่มเมืองที่มีสภาพอากาศเป็นพิษมากที่สุดทั้งหลาย อาทิเช่น เมืองละฮอร์ ซึ่งเป็นเมืองเอก หรือเมืองหลวงของแคว้นปัญจาบ ประเทศปากีสถาน นครการาจี ประเทศปากีสถาน นครดูไบ ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี กรุงโดฮา เมืองหลวงของกาตาร์ กรุงคูเวตซิตี เมืองหลวงของประเทศคูเวต กรุงริยาดห์ เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น จากการจัดอันดับเมื่อปีที่แล้ว คือ 2022 (พ.ศ. 2565)

นอกจากรายงานดัชนีคุณภพอากาศไอคิวแอร์ ที่จัดทำโดยบริษัทเครื่องฟอกอากาศจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์แล้ว บรรดาองค์การระหว่างประเทศ อย่าง “สหประชาชาติ” หรือ “ยูเอ็น” และ “องค์การอนามัยโลก” หรือ “ดับเบิลยูเอชโอ” หรือที่คนทั่วไปเรียกกันจนฮิตติดปากว่า “ฮู” นั้น ก็ออกมาเตือนต่อสภาพอากาศในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย แดนอิเหนา นี้ด้วยเช่นกัน

โดยเป็นการออกมาเตือนด้วยความเป็นห่วงต่อสุขภาพของพลเมือง ประชากร ว่า อากาศที่เลวร้าย เพราะเป็นมลพิษ ปนเปื้อนสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นก๊าซพิษอย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จากควันไอเสียของรถยนต์ ควันพิษจากการปล่อยก๊าซเสียของเหล่าโรงงานอุตสาหกรรม และโรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหิน ตลอดจนฝุ่นละอองที่มีขนาดอนุภาพเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือไมโครเมตร หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “ฝุ่นพีเอ็ม 2.5” นั้น จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ก่อโรคร้ายให้แก่ประชากรชาวเมืองด้วยโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจต่างๆ

กระทั่งกลุ่มคนทำแอปพลิเคชันด้านสุขภาพอนามัยของผู้คนในอินโดนีเซียเอง ก็ได้ส่งเสียงเพรียกเตือนทั้งต่อประชาชน รวมไปถึงทางการรัฐบาลผู้บริหารประเทศ ให้หันมาใส่ในเรื่องคณภาพอากาศนี้ด้วย

ยกตัวอย่างเช่นนายนาธาน โรสแตนดี ผู้จัดทำแพลตฟอร์ม “นาฟาส อินโดนีเซีย (Nafas Indonesia)” แอปพลิเคชันที่ให้ความรู้ข้อมูลด้านคุณภาพอากาศในอินโดนีเซีย ก็ออกมาส่งเสียงสะกิดเตือนด้วยว่า ประชาชนชาวอินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่พำนักอาศัยในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศ มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของพวกเขาเป็นอย่างยิ่ง จากสภาพอากาศที่เป็นมลพิษ ซึ่งสูดดมเข้าปอดไปในแต่ละวัน ซึ่งสภาพอากาศที่เป็นมลพิษที่ว่านั้น ก็ยังมีหมอกควันพิษต่างๆ ที่เสี่ยงก่อให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจสารพัด เช่น โรคหอบหืด เป็นต้น

นอกจากนี้ อากาศที่เป็นมลพิษอันเลวร้ายข้างต้น ก็ยังส่งผลต่อการพัฒนาสมอง ตลอดจนสุขภาพจิตของเด็กๆ อีกต่างหากด้วย

ขณะที่ เสียงบ่นจากประชาชนชาวอินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรุงจาการ์ตา ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นเมืองที่มีสภาพอากาศเลวร้ายหนักที่สุดในประเทศนั้น ก็ตำหนิวิจารณ์ไปยัง “ปัญหาจราจร” ที่แออัดคับคั่ง ว่าเป็นหนึ่งของต้นเหตุสำคัญของมลภาวะอากาศในเมืองหลวงของประเทศ จากการที่รถยนต์ชนิดต่างๆ ปล่อยควันเสียอย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ จากท่อไอเสียของรถยนต์ ยวดยานพาหนะต่าง ที่ติดขัดแออัดบนท้องถนนที่กำลังสัญจร

การประณามต่อการเผาพื้นที่ทางเกษตร รวมถึงเผาป่า เพื่อใช้เป็นพื้นที่ปลูกพื้ชไร่ อย่างไร่ปาล์ม เป็นต้น

เสียงตำหนิวิจารณ์ยังมีไปถึงบรรดาโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในเขตเมืองหลวงของประเทศที่ปล่อยควันเสียจากปล่องโรงงาน จนสร้างมลพิษ มลภาวะทางอากาศในพื้นที่

เช่นเดียกับโรงผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นพลังงาน ก็ถูกประชาชนชาวอินโดนีเซีย ก่อนประณาม ว่าาเป็นสาเหตุ ต้นตอ ของสภาพอากาศที่เป็นพิษอย่างสุดเลวร้าย และเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนพลเมืองของประเทศ

ถึงขนาดประชาชนรวมตัวกันฟ้องร้องต่อศาลกันเลยก็มี ดังกรณีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2021 (พ.ศ. 2564) เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งไปยังรัฐบาลอินโดนีเซีย ให้เร่งดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศ รวมไปถึงเร่งให้รัฐบาลฯ ออกมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศให้เข้มงวดกว่าที่เป็นอยู่

ปรากฏว่า ทางรัฐบาลอินโดนีเซีย ภายใต้การนำของประธานาธิบีโจโก วิโดโด หรือชาวอินโดนีเซีย เรียกนิกเนมของท่านว่า “โจโกวี” ก็ได้ดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพอากาศเป็นมลพิษข้างต้น

อย่างไรก็ตาม ได้มีเสียงวิจารณ์จากประชาชนชาวอินโดนีเซียจำนวนหนึ่งว่า รัฐบาลอินโดนีเซีย ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด จะแก้ไขปัญหาในลักษณะหลีกหนีต่อปัญหา ไม่ได้แก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง นั่นคือ รัฐบาลของประธานาธิบดีโจโกวี ใช้วิธีย้ายเมืองหลวงเพื่อหนีปัญหาข้างต้น

โดยประธานาธิบดีวิโดโด เปิดเผยว่า วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหานี้ก็คือ การย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่อื่น โดยรัฐบาลของเขามีแผนย้ายเมืองหลวงของกรุงจาการ์ตา ไปยังเมืองนูซันตารา บนเกาะบอร์เนียว ทั้งนี้ การย้ายเมืองหลวงข้างต้น นอกจากแก้ไขปัญหามลพิษอากาศแล้ว ก็ยังเป็นการหนีปัญหาน้ำท่วม หรืออุทกภัย ที่กรุงจาการ์ตาเผชิญปัญหาอย่างร้ายแรงเป็นประจำทุกปี

เหล่านักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า ย้ายหนีเมืองหลวงไปที่แห่งใหม่ ปัญหามลพิษ มลภาวะต่างๆ ก็ย้ายตามเมืองหลวงแห่งใหม่ต่อๆ ไปในลักษณะนี้อีก เพราะไม่ได้แก้ไขปัญหาที่ต้นตอ สาเหตุของปัญหาที่แท้จริง

ว่ากันในส่วนข้อมูลของสุขภาพเด็กที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ ก็ระบุว่า ในแต่ละปีมีเด็กล้มป่วยจากโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจนับหมื่นคน และเสียชีวิตถึง 10,000 คน ทุกปี จนถือเป็นเมืองที่ประชากรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษทางอากาศมากที่สุดเมืองหนึ่งของโลกอย่างน่าสะพรึง