วันที่ 14 ส.ค. 66 นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประชาชนคนไทยทั้งประเทศที่มีสิทธิเลือกตั้งเตรียมตัวไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ ว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อใช้แทนฉบับปัจจุบันที่ใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 60 ซึ่งมั่นใจว่าเสียงส่วนใหญ่จะเห็นชอบ ทั้งนี้ พรรคเพื่่อไทยได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 2 และ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ครั้งแรก ซึ่งพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจะมีมติ ครม.ให้ทำประชามติโดยกระบวนการจัดตั้ง สสร. พรรคเพื่อไทยจะไม่บิดพลิ้ว โอ้เอ ประวิงเวลาเพราะตระหนักดีว่า คนไทยที่รักประชาธิปไตยกำลังรอคอยอยู่
นางสาวตรีชฎา กล่าวต่อว่า สภาสมัยที่ผ่านมา แม้พรรคเพื่อไทย และพรรคต่างๆ จะพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อปิดสวิตซ์ สว.แต่ก็ไม่สำเร็จ พยายามจะให้มี สสร.มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ไม่สำเร็จเช่นกัน เมื่อย้อนหลังกลับไปจะพบว่า พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลได้เสนอญัตติให้ลงประชามติ เพื่อนำไปสู่การมีสสร. มาทำรัฐธรรมนูญใหม่ สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ แต่เมื่อไปถึงวุฒิสภา วุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการไปศึกษาก่อน เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะเมื่อศึกษาเสร็จ วุฒิสภาได้ลงมติไม่เห็นชอบให้ทำประชามติกระบวนการจึงถูกตัดตอนไปไม่ถึง ครม.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่จะมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการจัดทำประชามติ
อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยให้ออกเสียงประชามติ 2 ครั้ง หากจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในลักษณะจัดทำฉบับใหม่ คือ ครั้งแรกก่อนจะมี สสร.มาจัดทำกับเมื่อ สสร.จัดทำเสร็จแล้ว ให้ลงประชามติอีกครั้ง หากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเห็นชอบ ถึงจะนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้
นางสาวตรีชฎา กล่าวอีกว่า ด่านสำคัญที่พรรคเพื่อไทยจะต้องฝ่าข้ามไปให้ได้ คือการประสาน และร่วมมือกับทุกพรรคทุกฝ่าย โดยเฉพาะกับวุฒิสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนููญมาตรา 256 เพื่อให้กำเนิด สสร. จะมีที่มาอย่างไร จะให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้่งหมดหรือไม่ องค์ประกอบ คุณสมบัติ จำนวน อำนาจหน้าที่ ระยะเวลาการจัดทำรัฐธรรมนูญ และเรื่องอื่นๆ อาจจะดูง่ายดาย แต่เอาเข้าจริงอาจไม่ง่ายดังที่คิด เพราะการเมือง และอำนาจระยะเปลี่ยนผ่านกรณีการโหวตนายกฯ และการฟอร์มรัฐบาลก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า มีความยากลำบากอย่างยิ่ง อีกทั้งรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์เคยกำหนดไว้เป็นโนบายเร่งด่วนว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แต่ผ่านไป 4 ปี ก็ไม่ขับเคลื่อนให้เป็นจริง ทั้งๆ ที่มีการเคลื่อนไหวกดดันของหลายฝ่ายก็ไม่เป็นผล ดังนั้น การจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สำเร็จ พรรคเพื่อไทยจะต้องพยายามเต็มที่ โดยจะส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อมิให้มีกลไกอำนาจใดมาเป็นอุปสรรคขัดขวาง
นางสาวตรีชฎา กล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 ที่ร่างโดย สสร.เป็นแบบอย่างในหลายๆ เรื่องโดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการร่าง บทบัญญัติต่างๆ ก็เป็นที่ยอมรับ จัดเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่ง แต่ใช้ได้เพียง 8 ปี 11 เดือน ก็ถูกฉีกโดยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 49 ต่อมาประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 หลังจากใช้มาได้ 6 ปี 9 เดือน ก็ถูก คสช. ฉีกทิ้งในการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 ปัจจุบันรัฐธรรมนูญ ฉบับ2560 จัดทำโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน ประกาศใช้วันที่ 6 เม.ย. 60 ถึงวันนี้เป็นเวลา 6 ปี 5 เดือน นับว่านานพอสมควรแล้ว ดังนั้น จะต้องเร่งให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้นโดยไม่ชักช้า
“พรรคเพื่อไทยจะไม่ทำให้ผิดหวัง ขอยืนยันเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ตามแถลงการณ์ และการหาเสียงซึ่งกำหนดเป็นนโยบายพรรคไว้ชัดเจนที่ประกาศว่า จะแก้รัฐธรรมนูญ ผลักดันให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ขจัดการสืบทอดอำนาจเผด็จการ สร้างความเป็นธรรมให้ประชาชน การสืบทอดอำนาจจะต้องถูกปิดฉากลงเสียที ขอเชิญชวนทุกพรรค ทุกฝ่ายมาร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์การเมืองหน้าใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศร่วมกัน” นางสาวตรีชฎา กล่าว