บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)
ปัญหาการบริหารจัดการขยะเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมปัจจุบัน อาจเรียกได้ว่าเป็นวิกฤตในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมประการหนึ่ง เป็นปัญหาสำคัญของประเทศและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญปัญหาหนึ่งในชุมชนทุกประเทศทั่วโลก ที่ภาครัฐยังมีความสนใจใส่ใจน้อย เพราะในอนาคต จะมีขยะพิษ ขยะของเสียอันตราย ขยะติดเชื้อมากขึ้น ซึ่งต้องมีการกำจัดขยะที่ถูกวิธี ทราบหรือไม่ว่า เขาคิดคำนวณขยะกันโดยมีเกณฑ์พื้นฐานคือ คนสร้างขยะ 1.1 กิโลกรัม/คน/วัน จากข้อมูลปี 2561 พบว่า คนกรุงเทพฯ ผลิตขยะ 11,500 ตัน/วัน คนไทยผลิตขยะ 73,560 ตัน/วัน ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชน ที่เกิดขึ้นในปี 2558-2560 ดังนี้ ปี 2556 26.77 ล้านตัน ปี 2557 26.19 ล้านตัน ปี 2558 26.85 ล้านตัน ปี 2559 27.06 ล้านตัน ปี 2560 27.40 ล้านตัน ปัจจุบัน อปท. จำนวน 7,851 แห่ง มีการดำเนินการเก็บ ขนย้าย ขยะมูลฝอยชุมชน เพียงจำนวน 4,711 แห่ง (ที่มา : กรมควบคุมมลพิษ, 2561)
มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก ระบบสารสนเทศด้านการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน กรมควบคุมมลพิษ ปริมาณขยะมูลฝอย ปี 2564 สรุปดังนี้
ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น 24.98 ล้านตัน ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ 7.89 ล้านตัน ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดถูกต้อง 9.28 ล้านตัน ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดไม่ถูกต้อง 7.81 ล้านตัน ปริมาณขยะมูลฝอยตกค้าง 7.50 ล้านตัน สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกต้อง ได้แก่ 115 แห่ง หมักทำปุ๋ย 4 แห่ง MBT (เทคโนโลยีระบบบำบัดขยะด้วยวิธีเชิงกลและชีวภาพ MBT : Mechanical and Biological Waste Treatment) 5 แห่ง RDF (การผลิตเชื้อเพลิงขยะมูลฝอยเชิงพาณิชย์ RDF : Refuse Derived Fuel) 7 แห่ง ฝังกลบถูกหลักวิชาการ 1,707 แห่ง เตาเผาผลิตพลังงาน (WTE) 8 แห่ง เทกองควบคุม (<50 ตัน/วัน) 177 แห่ง สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้อง ได้แก่ 2,022 แห่ง เทกองควบคุม (>50 ตัน/วัน) 4 แห่ง เตาเผาไม่มีระบบบำบัดมลพิษอากาศ 63 แห่ง การเทกอง 70 แห่ง เผากำจัดกลางแจ้ง 35 แห่ง สถานีขนถ่าย 31 แห่ง
ปริมาณขยะรายจังหวัดปี 2564
ปริมาณขยะมีมากในเมืองใหญ่ คือ กทม. ปริมณฑล เมืองอุตสาหกรรม และ จังหวัดใหญ่ๆ พบข้อมูลที่น่าสนใจในการบริหารจัดการขยะในแต่ละจังหวัด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการกำจัดขยะ เรียงลำดับจากหัวข้อ (1) ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น (ตัน/วัน) (2) ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ (ตัน/วัน) (3) ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดถูกต้อง (ตัน/วัน) (4) ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดไม่ถูกต้อง (ตัน/วัน) (5) ปริมาณขยะมูลฝอยตกค้าง (ตัน) เรียงลำดับจังหวัดที่มีปริมาณขยะต่อวันมากที่สุด ดังนี้
1.กรุงเทพมหานคร 12,214.00 3,564.00 8,650.00 0.00 0.00
2.ชลบุรี 2,750.00 290.00 2,037.00 423.00 824,618.00
3.สมุทรปราการ 2,515.00 186.00 0.00 2,329.00 1,200,000.00
4.นครราชสีมา 2,271.00 1,129.00 556.00 586.00 146,558.00
5.นนทบุรี 1,989.00 407.00 1,582.00 0.00 0.00
6.ปทุมธานี 1,714.00 161.00 495.00 1,058.00 126,630.00
7.อุบลราชธานี 1,580.00 841.00 420.00 319.00 9,400.00
8.เชียงใหม่ 1,415.00 290.00 810.00 315.00 450.00
9.บุรีรัมย์ 1,380.00 505.00 167.00 708.00 15,428.00
10.ขอนแก่น 1,289.00 395.00 530.00 364.00 25,267.00
11.นครปฐม 1,225.00 214.00 570.00 441.00 144,505.00
12.พระนครศรีอยุธยา 1,287.00 197.00 644.00 446.00 398,683.00
13.สงขลา 1,236.00 357.00 715.00 164.00 4,041.00
14.สุรินทร์ 1,139.00 734.00 55.00 350.00 1,737.00
15.อุดรธานี 1,127.00 383.00 386.00 358.00 2,143.00
พิจารณาข้อมูลเก่าปี 2561 และที่สรุปปี 2564 อย่าเพิ่งตกใจ แม้จะพบว่า การกำจัดขยะของประเทศไทยดีขึ้นก็ตาม เพราะ ปริมาณขยะเฉลี่ยในปี 2564 ลดลง เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลให้เห็นถึงความยุ่งยากในการจัดการขยะเหล่านี้ ในช่วงการปฏิรูปประเทศในยุค คสช. เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นความสำคัญของปัญหาขยะมูลฝอยได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบ Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ถือว่าปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ ทีต้องจัดการด่วน (National Agenda : Quick Win) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม) ได้นำเสนอ มีการศึกษาสรุปว่าให้มีการ “จัดการขยะแบบโซนนิ่ง แบบกำจัดขยะรวม” (Cluster) ตามแผนการจัดการขยะ “การจัดการขยะมูลฝอยรวม” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ.2560 ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 267 ง วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ตาม “แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ” (พ.ศ.2559-2564) กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นกรอบแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยสำหรับ อปท. ทั่วประเทศ ทั้ง 77 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานครด้วย โดยแนวคิดในการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ประกอบด้วย ลดการเกิดขยะมูลฝอยหรือของเสียอันตรายที่แหล่งกำเนิด การนำของเสียกลับมาใช้ซ้ำและใช้ประโยชน์ใหม่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตของภาคการผลิต รวมทั้งลดปริมาณการเกิดขยะมูลฝอยเพื่อให้เกิดการจัดการขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืนต่อไป นี่คือคัมภีร์ที่ อปท.หรือท้องถิ่นต้องถือปฏิบัติ เป้าหมายคือ ชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste)
สภาพการจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Waste Management of Local Government Organization)
มีงานวิจัยที่พยายามศึกษาหานวัตกรรมการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะขยะชุมชนใหญ่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งขอยกตัวอย่างการศึกษาในในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (2562) เกี่ยวกับองค์ประกอบสำคัญคือ (1) นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ผู้บริหารสูงสุดต้องมีนโยบายที่ชัดเจน มีการประสานการดำเนินงาน ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม (2) ภาครัฐต้องมีแผนงานและงบประมาณในการจัดกิจกรรมลดปริมาณขยะ มีการมอบหมายผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน มีการคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบ ในการดำเนินงานและสนับสนุนการเรียนรู้ จากพื้นที่ที่ประสบผลสำเร็จ (3) ภาคประชาสังคม ต้องมีการสร้างกฎระเบียบขึ้นใช้ในพื้นที่ เพื่อสร้างความสามัคคี ความมีวินัย และปลูกจิตสำนึกสาธารณะรวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมลดปริมาณขยะ และกิจกรรมสร้างแรงจูงใจในการคัดแยกขยะตามหลัก “บวร” เช่น กิจกรรมผ้าป่าขยะ ตะแกรงบุญ ถุงพลาสติกแลกไข่ ขยะพิษแลกแต้ม ประกวดหน้าบ้านน่ามอง กิจกรรมกองทุนประกันชีวิต ฌาปนกิจจากขยะ กองทุนถุงพลาสติก กองทุนออม และธนาคารขยะ โดยเฉพาะ “การจัดการขยะ Recycle” เพราะเป็นรายได้ของชุมชน ชาวบ้านสามารถสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนในการขายขยะได้ แต่ปัญหาที่ อปท.หลายแห่งประสบ เช่น ปัญหาการเก็บขนไม่หมด มูลฝอยตกค้าง วิธีกำจัดขยะมูลฝอยอย่างไม่ถูกต้อง ไม่มีที่ดินสำหรับการกำจัดขยะมูลฝอย พื้นที่ฝังกลบที่ถูกหลักสุขาภิบาลที่มีอยู่ในปัจจุบันมีพื้นที่จำกัด สาเหตุจากขาดความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ และขาดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
กรณีตัวอย่างการศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีข้อสังเกตที่น่าสนใจ
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและการจัดการ (1) อปท. ควรนำประชาชนไปศึกษาดูงานพื้นที่ต้นแบบที่ประสบผลสำเร็จ เพื่อนำมาปรับปรุงและเป็นตัวแบบในพื้นที่ของตนเองต่อไป (2) ผลการวิจัยควรนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นๆ ของอปท. ที่ยังขาดระบบการจัดการขยะได้ (3) การสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมในการแยกขยะต้นทางของประชาชนจะประสบความสำเร็จได้มากกว่าการออกกฎระเบียบข้อบังคับให้ประชาชนปฏิบัติตาม โดย (1) หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องกำหนดนโยบาย วางแผนหรือดำเนินงาน การพัฒนาควรพิจารณาให้ความสำคัญด้านการวางพื้นฐานในการสร้างความตระหนักในความสำคัญของเรื่องที่จะดำเนินการก่อน จากนั้นควรสร้างความสนใจในเรื่องของการยอมรับเพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของและเต็มใจที่จะเข้าร่วมในการดำเนินงานนั้นๆ และเพื่อให้ผลของการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน (2) ผู้บริหารระดับนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำเทคนิควิธีการและกระบวนการการศึกษาหรือค้นหาปัญหาที่เป็นสาเหตุบนฐานของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เช่น การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมด้วยเทคนิค (SWOT) การคัดเลือกแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยเทคนิค (Mind Mapping) การวิจัยเชิงสำรวจ การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนกับภาคีเครือข่าย พิจารณาเป็นแนวทางการปรับปรุงหรือพัฒนางาน
ข้อเสนอแนะในเชิงการปฏิบัติ (1) อปท. ได้รูปแบบของกลุ่มกิจกรรม หรือโครงการสำหรับนำไปวางแผนเพื่อเพิ่มการจัดการขยะให้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับการลดปริมาณขยะ การคัดแยกขยะ การนำขยะมาใช้ หรือตามรูปแบบ Reduce Reuse Recycle เป็นอย่างน้อย โดยปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่นั้นๆ และให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีการติดตามประเมินผลเป็นระยะๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพการจัดการขยะของชุมชนต่อไป (2) ในการวางแผนงาน หรือโครงการจัดการขยะมูลฝอยแบบมีส่วนร่วมของอปท. ควรมีการกำหนดนโยบายและแผนงานในการขยายผลโครงการสู่ชุมชนในระดับกว้างขึ้น เช่น กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสร้างเครือข่ายการรณรงค์สร้างความตระหนัก การประชาสัมพันธ์ โดยเคาะประตูครัวเรือน การสร้างแรงจูงใจให้ปฏิบัติโดยการแข่งขันและให้รางวัล เป็นต้น
นวัตกรรมที่ค้นพบข้อขัดแย้งไม่เป็นไปตามหลักการบริหารและได้องค์ความรู้ใหม่ ดังนี้ (1) การแบ่งโครงสร้างการบริหาร อปท. อำนาจฝ่ายบริหารและอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ตามบัญญัติแห่งกฎหมาย ต้องแยกจากกันอย่างสิ้นเชิง แต่ผลวิจัยพบว่า บางพื้นที่มอบหมายให้ประธานสภาเป็นผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ ซึ่งผิดหลักการการบริหารในองค์กรโดยสิ้นเชิง ในทางปฏิบัติผู้บริหารเทศบาลต้องลงพื้นที่ปฏิบัติ ไม่ใช่ประธานสภาที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ (2) วัดรับบริจาคเศษใบไม้ที่สามารถนำไปเป็นขยะอินทรีย์เพื่อทำปุ๋ยหมัก โดยชาวบ้านจะนำมาใส่ถุงเก็บไว้ที่วัด หากประชาชนต้องการปุ๋ยหมักก็สามารถนำไปใช้ได้โดยบริจาคเป็นเงินบำรุงวัด
นี่เป็นเพียงตัวอย่างกรณีศึกษาเล็กๆ ที่น่าสนใจ เพื่อการจุดประกาศให้ผู้เกี่ยวข้องได้หันมาสนใจ และแก้ไขปัญหาวิกฤติขยะมูลฝอยที่กำลังเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในชนบท เพราะแต่เดิมนั้น อบต.ไม่มีการจัดการขยะ เพราะพื้นที่ชนบท ห่างไกล การเผาหญ้า เผาฟาง เผาวัชพืช รวมทั้งการเผาในที่โล่งต่างๆ จึงมีทั่วไป ในภาวะปัจจุบันที่มีวิกฤติปัญหาฝุ่นหมอกควันพิษ (PM 2.5) ประกอบกับภาวะโลกร้อน การเผาในที่โล่งดังกล่าวจึงถูกห้าม และต้องควบคุมอย่างใกล้ชิด นี่คือปัญหาหนึ่งที่สำคัญของท้องถิ่น โดยเฉพาะท้องถิ่นชนบทบ้านนอก ใครอย่าคิดว่าไม่สำคัญ ผู้บริหารทุกระดับ ต้องหันมาสนใจ ในกฎหมาย และการปฏิบัติที่ถูกต้องในการป้องกัน ควบคุม และการแก้ไข รัฐบาลต้องมีนโยบายนี้ในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่ได้หาเสียงไว้เมื่อคราวการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา