วันที่ 11 สิงหาคม 2566 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า จากการจ้างที่ปรึกษาทำการวิเคราะห์จุดฝืดด้านการจราจรทั่วกรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ปัญหารถติด โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พบว่า มีจุดฝืดหรือจุดรถติดทั้งหมด 127 จุด ปัญหาหลักเกิดจากบริเวณจุดกลับรถต่าง ๆ
จากการลงพื้นที่สำรวจ จุดสำคัญที่เห็นได้ชัด คือ ถนนพหลโยธินใกล้บริเวณจุดกลับรถสะพานใหม่ จึงต้องจัดวิธีการกลับรถให้เหมาะสม รวมถึงบริเวณดังกล่าวอยู่ใกล้กับตลาดยิ่งเจริญ ซึ่งมีจุดกลับรถตรงกับทางเข้า-ออกของตลาด ทำให้มีรถสะสมจากรถที่จะเข้าตลาดและรถที่จะกลับรถหน้าตลาดจำนวนมาก ที่ปรึกษาจึงเสนอให้ปิดจุดกลับรถเดิม แล้วขยับจุดกลับรถให้ห่างออกมาจากทางเข้าตลาดมาขึ้น เพื่อเว้นระยะให้สามารถกลับรถได้ โดยไม่ติดรถที่เข้า-ออกตลาดยิ่งเจริญ รวมถึงเสนอให้ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรบริเวณจุดกลับรถใหม่ เพื่อควบคุมการจราจรในช่วงเร่งด่วน และสร้างทางม้าลายให้คนสามารถข้ามถนนได้ จากการหารือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่และผู้ที่เกี่ยวข้องรวมถึงการทำประชาพิจารณ์ ทุกฝ่ายเห็นด้วยให้มีการแก้ไขตามข้อเสนอดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีบริเวณแยกพลาธิการทหารอากาศ พบปัญหารถจากซอยพหลโยธิน 54/1 ขาออกมาจรดแยกพลาธิการทหารอากาศจำนวนมาก เพื่อมุ่งหน้าไปถนนวิภาวดีรังสิตโดยใช้ช่องทางพลาธิการทหารอากาศ แนวทางแก้ไขคือขยายช่องทางบริเวณแยกพลาธิการทหารอากาศ และตีเส้นจราจรเพิ่มเพื่อให้รถที่มาจากถนนพหลโยธินเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด ไม่ชะลอตัว รวมถึงจะมีการปรับสัญญาณไฟจราจรบนถนนพหลโยธินซึ่งจากเดิมใช้การตั้งเวลาแบบตายตัว เป็นสัญญาณไฟที่ปรับเปลี่ยนไปตามปริมาณการจราจรอัตโนมัติ (Adaptive Control System) อีกปัญหาที่พบคือ รถรับจ้างสาธารณะจอดรับผู้โดยสาร ทำให้ช่องการจราจรหายไปหนึ่งเลน ต้องมีการจัดระเบียบในช่วงเวลาเร่งด่วนเพื่อให้การจราจรคล่องตัวมากขึ้น
นายวิศณุ กล่าวว่า แนวทางดังกล่าวเป็นการแก้ไขจุดฝืดเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้การจราจรคล่องตัวขึ้น โดยไม่ต้องใช้งบประมาณมาก ทั้งนี้ จะนำแนวทางดังกล่าวไปเป็นพื้นฐานในการแก้ปัญหาจุดฝืดอื่น ๆ ของกรุงเทพมหานครต่อไป