ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย
เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2566 (2023) คณะทหารนำโดย พล.อ.อะมาโด อับดราเมน ได้ทำการยึดอำนาจ และคุมตัวประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด บาซูม เอาไว้
นั่นคือเหตุการณ์ที่ไนเจอร์ที่ฝ่ายตะวันตก โดยเฉพาะฝรั่งเศส ทำการประท้วงอย่างรุนแรง และยื่นคำขาดให้ปล่อยตัวประธานาธิบดีบาซูม นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม ECOWAS (ECONOMIC COMMUNITY OF WEST AFFICAN STATES) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองอาบูจา เมืองหลวงของไนจีเรีย ที่ได้มีการประชุมและยื่นคำขาดให้ปล่อยตัวพร้อมคืนอำนาจให้ประธานาธิบดีบาซูมภายใน 7 วัน
นี่ก็เลยกำหนดเวลามาแล้ว ทำให้รัฐบาลทหารไนเจอร์ได้สั่งปิดน่านฟ้าอีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้ได้ประกาศให้ฝรั่งเศสถอนทหารออกไป จากฐานทัพในไนเจอร์ พร้อมตัดสัมพันธ์ทางการทูตคือขับทูตฝรั่งเศสออกจากไนเจอร์ แต่ฝรั่งเศสก็ปฏิเสธพร้อมทั้งไม่ยอมยกเลิกพันธสัญญาต่างๆที่ทำกับบาซูม
ด้านรัสเซียประธานาธิบดีปูติน ได้ให้นายเปสคอฟ โฆษกประจำทำเนียบออกมาแถลงว่าไม่ควรมีการแทรกแซงจากภายนอก เพราะจะทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายมากขึ้น ในขณะที่นายเยฟเกนี พริโกซิน ออกมาให้สัมภาษณ์สนับสนุนรัฐบาลทหารไนเจอร์
อนึ่งมีข่าวที่ยังไม่มีการยืนยันว่าได้มีการทำข้อตกลงกันระหว่างกลุ่มวากเนอร์กับรัฐบาลพล.อ.อะมาโด อับดราเมน ของไนเจอร์ ที่จะร่วมมือกันทางทหาร นอกจากนี้ยังอ้างว่าข่าวจากโลกที่ 3 ว่าผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่านว่าเดินทางไปเยือนกรุงนีอาเม ของไนเจอร์ นัยว่าเพื่อให้การสนับสนุนรัฐบาลทหารไนเจอร์ให้ปลดแอกจากตะวันตก ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าการดำเนินการใดๆของวากเนอร์ไม่เกี่ยวกับรัสเซีย เพราะสถานภาพของวากเนอร์คือทหารรับจ้างที่ลี้ภัยข้อหากบฏไปอยู่เบลารุส
ที่น่าสนใจ คือ ท่าทีของสหรัฐฯที่ยังคงเงียบๆอยู่ แม้จะมีแถลงการณ์ต่อต้านการยึดอำนาจ นับว่าค่อนข้างผิดปกติจากที่เคยเป็น
เรื่องการยึดอำนาจที่ไนเจอร์นี้ นอกจากฝรั่งเศสแล้วที่จะสูญเสียผลประโยชน์จากการผูกขาดแร่ยูเรเนียม ซึ่งกดราคาต่ำและไปขายได้ราคาแพงมาก โดยได้กำไรไม่น้อยกว่า 80% นอกจากนี้ยังได้วัตถุดิบไปป้อนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศของตนที่มีจำนวนมาก ฝรั่งเศสจึงไม่มีปัญหาเรื่องพลังงานเหมือนเยอรมนี สเปน และอิตาลี
ทว่าเรื่องผลประโยชน์ที่กระทบกับยุโรปไม่ใช่มีเพียงแค่นี้ เพราะที่ไนจีเรีย ประเทศเพื่อนบ้านอันเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สำคัญแห่งหนึ่ง ได้มีการลงทุนจัดสร้างท่อก๊าซและท่อน้ำมัน โดยบริษัทเชลล์และกลุ่มทุนยุโรป ที่เรียกว่าโครงการทรานซาฮารา ซึ่งต้องเดินท่อผ่านไนเจอร์ไปเชื่อมต่อกับท่อก๊าซที่แอลจีเรีย ที่ลอดใต้ทะเลเมดิเตอร์ เรเนียนไปอิตาลี
ท่อก๊าซและน้ำมันในโครงการทรานซาฮารานี้จะช่วยแก้ปัญหาพลังงานให้กับอิตาลี และยุโรปตอนใต้รวมทั้งบางประเทศในแหลมบอลข่านและจะช่วยส่งเสริมการเป็นอิสระทางพลังงานของยุโรปต่อรัสเซีย
อนึ่งยังมีท่อก๊าซจากแอลจีเรียอีกทางหนึ่งผ่านโมร็อกโก ข้ามไปสเปนแถบช่องแคบยิมรอนต้าไปคอโคบาของสเปน แต่ขณะนี้ถูกโมร็อกโกปิดการเชื่อมต่อ เพราะมีกรณีพิพาทกับแอลจีเรีย เรื่องพื้นที่ซาฮาร่าตะวันตก
อย่างไรก็ตามก๊าซจากอัลจีเรียที่ส่งไปอิตาลีก็มีจำนวนลดน้อยลง เพราะมีการเพิ่มการใช้ภายในประเทศ การได้ก๊าซและน้ำมันจากไนจีเรียจะช่วยแก้ปัญหาพลังงานของอิตาลีและยุโรปใต้กับแหลมบอลข่านอย่างมาก
ขณะนี้ท่อก๊าซและน้ำมันในโครงการทรานซาฮาราก็เสร็จแล้ว ถ้าไนเจอร์ไม่ยอมให้ผ่านยุโรปก็หมดท่า
มันจึงเป็นวิกฤติของยุโรปที่ยังคงต้องพึ่งพาก๊าซราคาแพงจากสหรัฐฯและก๊าซราคาถูกแต่ต้องลักลอบนำเข้าจากรัสเซีย จึงไม่น่าแปลกใจที่สหรัฐฯไม่กระตือรือร้นเท่าที่ควร เพราะยังอาศัยตีกิน ขายก๊าซราคาแพงให้ยุโรปส่วนรัสเซียก็ได้ประโยชน์ไม่ต่างกัน
แม้ว่าในปัจจุบันยุโรปจะได้จัดซื้อก๊าซ LPG จากไนจีเรีย ผ่านเมืองท่าของไนจีเรียทางเรือ แต่จำนวนจำกัดและราคาขนส่งแพง โครงการทรานซาฮารา จึงเป็นเส้นชีวิตของยุโรปที่สำคัญ ยุโรปจึงต้องเต้น
แต่ฝรั่งเศสหรือแม้แต่อิตาลียังไม่กล้าออกหน้าทางทหาร เพราะกลัวติดหล่มจึงพยายามใช้ตัวแทนอย่างไนจีเรีย หรือบางประเทศในแอฟริกาตะวันตก ให้ใช้กำลังโดยตนจะหนุนหลังอาวุธ ตอนนี้ก็มีเซเนกัลและเบนินอาสาแต่ยังไม่บรรลุข้อตกลง
ทว่ารัฐสภาไนจีเรียก็ได้มีมติจะไม่ใช้กำลังเข้าแทรกแซงไนเจอร์ ทางเลือกของยุโรป จึงอาจออกมาในแนวทางติดอาวุธประชาชนบางส่วนที่หนุนประธานาธิบดีบาซูม ให้เกิดสงครามกลางเมืองแล้วแทรกแซง
อย่างไรก็ตามกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้อาจต้องเผชิญกับการต่อต้านจากกองทหารวากเนอร์ และกลุ่มที่หนุนโดยกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่านหรือกำลังสนับสนุนจากมาลีและบูร์กินาฟาโซ
สำหรับเบี้ยอีกตัวของตะวันตกก็คืออาจใช้กองกำลังก่อการร้ายญีฮัดที่ตามข่าวว่ารับการหนุนหลังจากอัลกออิดะฮ์ จากลิเบีย ซึ่งอยู่ติดพรมแดนไนเจอร์ทางเหนือ
สำหรับไนจีเรีย ประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันตกและใต้ของไนเจอร์นั้น แม้จะมีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แต่สถานการณ์ภายในประเทศก็ไม่สู้มั่นคงนัก เพราะยังต้องเผชิญกับกลุ่มก่อการร้ายโบโกฮารามที่เดิมเป็นกลุ่มที่ต่อสู้ตามแนวสันติ ตามหลักศาสนาเพื่อปกป้องกลุ่มชนเผ่าของตนจากการรุกรานทางวัฒนธรรมตะวันตก และการเผยแผ่ศาสนาคริสต์
แต่กลุ่มนี้ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงจากรัฐบาลไนจีเรีย มีการเข่นฆ่าจำนวนมาก ละเมิดสิทธิมนุษยชน จนในที่สุดกลุ่มนี้กลายเป็นกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงสุดโต่ง เพื่อต่อต้านการกระทำอันเป็นอธรรมจากรัฐบาล และขยายการปฏิบัติการออกไปจากรัฐไนจีเรียทางตะวันออกเฉียงเหนือไปยังพื้นที่อื่นๆ และมีการเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายในโซมาเลียที่ถูกตะวันตกทำให้เป็นรัฐล้มเหลวไปแล้ว
ดังนั้นไนจีเรียที่ฝรั่งเศสมุ่งหมายจะให้เป็นตัวแทนไปจัดการกับไนเจอร์ด้วยกำลัง จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะทำอะไรได้มาก ไม่ใช่เฉพาะรัฐสภา แต่ประชาชนก็มีการเดินขบวนคัดค้านการใช้กำลังกับไนเจอร์
อนึ่งสภาพการณ์ใน ไนจีเรียแม้มีน้ำมันดิบกับก๊าซธรรมชาติจำนวนมาก แต่มีการคอร์รัปชั่นจำนวนมาก ที่สำคัญรัฐบาลใช้นโยบายประชานิยม ที่กดราคาน้ำมันเบนซินและดีเซล ให้ต่ำตลอดจนราคาก๊าซธรรมชาติ จึงไม่มีใครมาลงทุนทำโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซ
ถึงขนาดมีการทำโรงกลั่นเถื่อนและเจาะท่อก๊าซของผู้รับสัมปทานเอาน้ำมันดิบไปกลั่น จนเกิดระเบิดคนตายจำนวนมาก
นอกจากนี้แม้บริษัทเชลล์ที่เป็นบริษัทของอังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ จะจ่ายค่าภาคหลวง แต่ผลประโยชน์ก็ไม่ค่อยตกถึงมือประชาชนที่ยังคงยากจนอยู่มาก
ไนจีเรียส่งน้ำมันดิบออกได้เงินมหาศาล แต่ต้องจ่ายเงินมากกว่าเพื่อซื้อน้ำมันกลั่นแล้วเข้าประเทศ ขาดดุลไม่น้อย
ดังนั้นเหตุการณ์ที่ไนเจอร์ จึงมีเรื่องของผลประโยชน์ระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง แม้บางครั้งจะเป็นการขัดกันเรื่องผลประโยชน์ระหว่างพวกกันเอง อย่างสหรัฐฯที่ขายก๊าซได้ราคาแพง และอาจไม่ต้องการให้ยุโรปเป็นอิสระจากตนก็ได้
ด้านรัสเซียจีนก็คงต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดเพราะมันเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะทำให้ตะวันตกล้มระเนระนาดเป็นโดมิโนหมดอิทธิพลในแอฟริกาที่ตนเคยปกครองและขูดรีดมาเป็นเวลานาน
ห่วงแต่สงครามกลางเมือง ที่ประชาชนต้องทุกข์ยากและจะเป็นบทเรียนให้ประเทศไทยได้ใช้เป็นเครื่องเตือนใจ