เมื่อเวลา 11.10 น. วันที่ 10 ส.ค. 66 ที่รัฐสภา นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะเลขาธิการพรรคเป็นธรรม แถลงเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงในชายแดนไทย-เมียนมา ว่า มีการเรียกร้องจากเครือข่ายภาคประชาสังคมในบริเวณตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมาในหลายกลุ่ม อยากให้รัฐบาลเร่งพิจารณามาตรการคุ้มครองความปลอดภัยต่อพี่น้องประชาชน เนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรง และการสู้รบ ซึ่งทำให้พี่น้องประชาชน ได้รับผลกระทบทั้งชีวิต และทรัพย์สิน

นายกัณวีร์ กล่าวต่อว่า การรัฐประหารในประเทศเมียนมามีการประหารประชาชนอย่างใหญ่หลวง จำนวนผู้พลัดถิ่นในประเทศเมียนมากว่า 1,000,000 คน และ 30% หรือ 300,000 คน อยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งผู้พลัดถิ่นพร้อมเข้ามาในประเทศไทยเสมอหากเกิดสถานการณ์ความรุนแรง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยจากประเทศเมียนมาอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวใน จ.เชียงราย จำนวน 9,035 คน แต่จำนวนที่ยังไม่ได้รับการยืนยันนั้นมีมากกว่านี้ จึงเรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติหาทางแก้ปัญหาใน 2 เรื่องหลัก ได้แก่ การปฏิบัติการทางทหารเมียนมา และความคุ้มครองด้านมนุษยธรรมของรัฐบาลไทย 

นายกัณวีร์ กล่าวอีกว่า ปฏิบัติการทางทหารของประเทศเมียนนมา มีทั้งทางภาคพื้น และทางอากาศ มีการโจมตีโดยใช้เครื่องบินขับไล่ และโดรน ซึ่งโดรนที่ทหารเมียนมาใช้นั้น พบว่ามีการทิ้งระเบิด ไม่ใช่เป็นโดรนเพื่อสังเกตการณ์เท่านั้น ซึ่งมีความรุนแรงมากกว่า 100 เหตุการณ์ ที่เกิดการยิงอาวุธจากประเทศเมียนมาข้ามมายังชายแดนประเทศไทย 

นายกัณวีร์ ยังตั้งคำถามถึงการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยธรรมของรัฐบาลไทย ว่ามีศักยภาพเพียงพอ และสามารถแบ่งภาษีอากรของพี่น้องประชาชนมาเพื่อเตรียมความพร้อมด้านนี้หรือไม่ ซึ่งพรรคเป็นธรรมได้เสนอไปยังประธานสภาฯว่าจะต้องแก้ไขปัญหาทั้ง 2 เรื่อง โดยนายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้นำรัฐบาลไทยในการใช้กรอบความร่วมมือทั้งทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อลดปฎิบัติการทางทหารเมียนมา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนไทย และนายกฯ จำเป็นต้องพิจารณากลไกทุกระดับ กดดันให้ทหารเมียนมาเข้าใจว่า “Safety Zone” (พื้นที่ปลอดภัย) อยู่ตรงไหน ซึ่งจำเป็นต้องมีพื้นที่ 5 กิโลเมตร นับตั้งแต่ชายแดนไทย เพื่อสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัย และเป็นระเบียงด้านมนุษยธรรม เพื่อป้องกันไม่ให้อธิปไตยของไทยเกิดผลกระทบ 

โดยผู้พลัดถิ่นในไทยสามารถใช้พื้นที่ปลอดภัยนี้ ในการเดินทางมาอยู่ในประเทศไทย แต่เข้าใจว่ากรอบทวิภาคีนั้นไม่เพียงพอ รัฐบาลไทยต้องใช้โอกาสในการแสวงหาพหุภาคี นั่นคือกรอบความร่วมมืออาเซียน เพราะอาเซียนเคยมีการพูดคุยกันแล้วในเรื่องฉันทามติ 5 ข้อ และส่งการเจรจาเพื่อลดรอนสิทธิมนุษยชน และรัฐบาลไทยต้องพูดคุยถึงการกำหนดพื้นที่ 5 กิโลเมตร เป็นผู้ริเริ่มการทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งลดลง อีกทั้ง การช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษย์เสียทำนั้นศักยภาพของไทยไม่เพียงพอ จึงอยากรู้ว่า เราจะมีงบประมาณเพียงพอเพื่อตอบรับการช่วยเหลือหรือไม่  

“นายกฯ ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ควรเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเป็นต้องจัดทำตัวนโยบายให้มาเป็นคำสั่งสำนักนายกฯ ในการปฏิบัติการแบบบูรณาการ” นายกัณวีร์ กล่าว