Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.10 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.94 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 34.90-35.12 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว รวมถึงการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off)
บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าทยอยขายหุ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเทคฯ ที่เกี่ยวกับธีม AI (Nvidia -4.7%, AMD -2.4%, Alphabet -1.3%) ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลงกว่า -1.17% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.70% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Exxon Mobil +1.7%) หลังราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.43% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Total Energies +3.4%, BP +2.6%) ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนโดยรวมที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด
ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideway ใกล้ระดับ 4.00% (กรอบ 3.98%-4.04%) ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ระดับสูงกว่า 4.00% ถือว่าเป็นระดับที่น่าสนใจ ในการทยอยเข้าซื้อ โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนที่มีมุมมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น และเฟดอาจจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหว sideway โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย ในช่วงที่ตลาดการเงินผันหวน ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันนี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 102.5 จุด ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะแกว่งตัว sideway ไร้ทิศทางที่ชัดเจน แต่จังหวะการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ย่อตัวลง ใกล้ระดับ 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ (ตลาดจะรับรู้ในช่วง 19.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย) โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI จะอยู่ที่ระดับ 3.3% (คิดเป็นการเพิ่มขึ้น +0.2%m/m) ซึ่งอาจเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ตามแรงหนุนของราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ยังคงประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI มีแนวโน้มชะลอลงและอาจทรงตัวใกล้ระดับ 3.0%-3.5% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ก็อาจทรงตัวที่ระดับ 4.8% และมีแนวโน้มชะลอลง ตามภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานออกมาตามคาด ผู้เล่นในตลาดอาจยังคงมองว่า เฟดจะยังไม่สามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ในการประชุมเดือนกันยายน (จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดยังให้โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยต่อในปีนี้ ราว 30%)
ส่วนในฝั่งไทย เรามองว่า ยังคงต้องจับตาสถานการณ์การเมืองต่อ เพื่อประเมินแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลผสมว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร โดยตลาดการเงินไทยอาจกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้ หากการจัดตั้งรัฐบาลผสมมีความชัดเจนมากขึ้น
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อได้บ้าง โดยเฉพาะในช่วงที่บรรยากาศตลาดการเงินโดยรวมยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ซึ่งจะช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อหรือทรงตัวที่ระดับเดิมต่อได้ ขณะเดียวกัน การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ก็กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงและหากผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะดังกล่าว โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำก็กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากผู้เล่นในตลาด อาทิ ผู้ส่งออก ต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ หลังเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนผู้เล่นต่างชาติที่มีมุมมองเชิงบวกต่อเงินบาทในระยะกลาง-ระยะยาว ก็อาจรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าในการทยอยเพิ่มสถานะ Long THB
นอกจากนี้ในวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทำให้ ผู้เล่นในตลาดอาจยังอยู่ในภาวะ wait and see ทำให้เงินบาทอาจติดอยู่ในโซนแนวต้านแถว 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ ทว่า ควรระวังในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ซึ่งเราประเมินว่า ตลาดการเงินอาจผันผวนสูงได้ โดยหากอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นสูงกว่าคาด จนทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดหวังว่า เฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ (ต้องเห็นโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยต่อ สูงกว่า 40%) ในกรณีดังกล่าว เราคาดว่า เงินบาทอาจอ่อนค่าต่อตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้ (คาดว่าราคาทองคำอาจปรับตัวลดลง) ในทางกลับกัน หากอัตราเงินเฟ้อออกมาตามคาด หรือ ต่ำกว่าคาด เราคาดว่า เงินบาทมีโอกาสพลิกกลับมาแข็งค่าหลุดโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการรีบาวด์ขึ้นแรงของราคาทองคำ
โดยเราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและบรรยากาศในตลาดการเงินที่อาจพลิกไปมาในช่วงนี้ ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.95-35.20 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และมองกรอบเงินบาทที่ระดับ 34.85-35.40 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ