วันที่ 9 สิงหาคม 2566 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยคืบหน้าการรื้อถอนโครงสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ที่ถล่มลงมาระหว่างก่อสร้าง ว่า จากการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และผู้รับจ้างก่อสร้าง คณะอนุกรรมการฯ วสท. มีข้อเสนอ ดังนี้

 

1.เรื่องระบบค้ำยันเสาตอม่อ P85 -P87 ที่เสียหายต้องแสดงวิธีคิดแรงด้านข้างที่กระทำกับเสาตอม่อเพิ่มเติม ส่วนรูปแบบที่ฐานรองรับค้ำยันจะมีการปูแผ่นเหล็กหนา 20 มิลลิเมตร พร้อมวางทับด้วยแผ่นคอนกรีตหนา 50 เซนติเมตรเพื่อรับโครงเหล็ก H Beam ความสูง 300 เมตร สำหรับใช้ค้ำยันโครงสร้าง 2.ปรับเสริมโครงสร้างฐานรับให้กว้างเพื่อรองรับน้ำหนักเพิ่มขึ้น 

 

นายวิศณุ กล่าวว่า โครงสร้างที่จะมารองรับคอนกรีต Box Segment ที่หักลงมาไปพิงเสาตอม่อ ต้องใช้ Hydraulic Jack เพื่อถ่ายโอนน้ำหนักลงระบบค้ำยันที่รองรับก่อนจะคลายลวดสลิงที่ยึดไว้เพื่อไม่ให้เกิดแรงกระแทก (shock load ) ส่วนวิธีการการคลายลวดสลิงที่ยึดคอนกรีต Box Segment ให้ดำเนินการตามขั้นตอนที่เสนอ โดยค่อย ๆปลดตามลำดับ และใช้เส้น Fiber ตัดลวดสลิงเป็นหลัก รวมถึง ขอให้จัดทำระบบป้องกันความปลอดภัยผู้ปฏิบัติงาน

 

ทั้งนี้ ระหว่างดำเนินการจะมีการติดตั้งเครื่องมือวัดการเคลื่อนตัวที่เกิดขึ้นกับเสาตอม่อ เพื่อดูพฤติกรรมควบคู่ไปด้วยส่วนขั้นตอนการยก ย้าย โครงสร้างที่รื้อถอนนำไปเก็บ ให้ผู้รับจ้างจัดทำแผนการยกชิ้นส่วนก่อสร้าง(Lifting Plan)โดยแสดงจุดตั้งเครน จุดจอดรถเทเลอร์รับขนย้ายไปเก็บ พร้อมจัดเตรียมพื้นที่และติดตั้งระบบค้ำยันต่าง ๆควบคู่ไปด้วย เพื่อดูความปลอดภัย ผลกระทบกับการจราจร คาดว่าการรื้อถอนจะแล้วเสร็จปลายเดือนสิงหาคม

 

นายวิศณุ กล่าวว่า สาเหตุของการถล่ม​อยู่ระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกับ วสท. ตนได้ไปให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ส่วนเรื่องที่นายเกรียงยศ​ สุดลาภา​ ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเรื่องการแก้ไขสัญญานั้น คงเข้าใจผิด​ เพราะโครงการนี้ไม่ได้มีการแก้ไขสัญญาก่อสร้าง เพียงแต่แก้วิธีหล่อแท่งคอนกรีต​ จากการหล่อในพื้นที่ก่อสร้างโครงการ​ เป็นหล่อจากโรงงาน​แล้วขนย้ายมายังพื้นที่ก่อสร้าง ​เพื่อความรวดเร็ว และปิดพื้นที่ก่อสร้างน้อยลง​

 

ด้านนายชัชชญา​ ขำจันทร์​ ผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง​ กล่าวถึงความคืบหน้าการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์​ ว่า เขตลาดกระบังมีหน้าที่เป็นศูนย์รับแจ้งประชาชนผู้ได้รับผลกระผล ซึ่งได้เปิดรับมาตั้งแต่วันเกิดเหตุ​ จนถึงวันที่ 31 กค.66​ ขณะนี้ได้นำส่งเรื่องไปให้สำนักการโยธา กทม.หน่วยเจ้าของโครงการแล้ว​ เพราะสำนักการโยธาจะต้องเคลียร์กับบริษัทประกันภัยของบริษัทผู้รับเหมา