วันที่ 8 ส.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ที่มีพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ที่ล่าสุดเพิ่งประกาศจับมือกับพรรคภูมิใจ แถลงข่าวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่าผ่านมานั้น ได้ข้อยุติแล้วว่า ทั้งสองพรรคชูเสียง 212 เสียง แล้วจะดึงอื่นๆเข้าร่วมได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ ดึงมา 21 เสียงในสังกัดของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน  รักษาการเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งสิ้นมี 253 เสียง แต่จะไม่มีการดึงพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ร่วมรัฐบาลด้วย 

ทั้งนี้มีรายงานว่า พรรคเพื่อไทย ไม่ต้องการดึงพรรคพลังประชารัฐ เข้าร่วมรัฐบาล เนื่องจากมีแรงต่อต้านจากภายในพรรคและก่อนหน้านี้พรรคก็เคยยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ มาแล้ว นอกจากนี้พรรคยังไม่รับข้อเสนอที่พรรคพลังประชารัฐ ต้องการเก้าอี้รัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทยหากได้เข้าร่วมรัฐบาล 

ขณะที่แนวทางสำหรับการโหวตแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน  นั้นพรรคเพื่อไทย จะใช้วิธีปิดสวิตช์สว. โดยไม่พึ่งเสียงโหวตจากสว. แต่จะขอเสียงโหวตจากพรรคก้าวไกล โดยมอบหมายให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำพรรคไปหารือกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าเพื่อเจรจาให้พรรคก้าวไกล 150 เสียงโหวตให้นายเศรษฐา โดยที่พรรคก้าวไกล จะไม่ร่วมรัฐบาลด้วย 

ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างนั้น พรรคเพื่อไทย ได้มอบหมายให้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคไปประสานกับนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ และนายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ซึ่งเป็นแกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อขอเสียงสส.ในพรรคมาโหวตสนับสนุนให้กับนายเศรษฐา ด้วยเช่นกัน ดังนั้นในส่วนของเสียงโหวตนายกฯ ให้กับนายเศรษฐา โดยที่ไม่ต้องพึ่งเสียงจากสว. นั้นจะมีมากกว่า 400 เสียงในที่ประชุมรัฐสภา หากนับจาก 253เสียงของรัฐบาลใหม่ บวกกับ 150 เสียงของพรรคก้าวไกล จะอยู่ที่403เสียง เกินกึ่งหนึ่งของเสียงจากที่ประชุมรัฐสภาที่จะต้องได้ 375 เสียง