ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงข่าวร่วมกับ นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน และนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร โดยระบุว่าภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนมิถุนายน 2566 กับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 24,826.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหดตัว 6.4% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 848,927 ล้านบาท หดตัว 6.3% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนมิถุนายนหดตัว 2.9%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 24,768.4 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 10.3% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 857,188 ล้านบาท หดตัว 10.2% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมิถุนายน 2566 เกินดุลเท่ากับ 57.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 8,261 ล้านบาท

โดยภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม – มิถุนายนของปี 2566 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 141,170.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 5.4% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 4,790,352 ล้านบาท หดตัว 3.1% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม – มิถุนายน หดตัว 2.3%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 147,477.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 3.5% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 5,067,514 ล้านบาท หดตัว 1.3% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม – มิถุนายน 2566 ขาดดุลเท่ากับ 6,307.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 277,162 ล้านบาท


ทั้งนี้ สรท.คงคาดการณ์เป้าหมายการทำงานด้านการส่งออกรวมทั้งปี 2566 ระหว่าง -0.5% ถึง 1% (ณ เดือนสิงหาคม 2566) โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2566 ได้แก่ 1.ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ฝั่งตะวันออกและตะวันตก ส่งผลอย่างยิ่งต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลก 2.เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักยังคงขยายตัวแบบชะลอลงและฟื้นตัวแบบหน่วง เช่น ตลาดสหรัฐ ยุโรป และจีน 3.อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ระบบการเงินมีแนวโน้มสภาพคล่องลดลงและการปล่อยสินเชื่อตึงตัวขึ้น 4.ต้นทุนการผลิตยังคงสูง อาทิ ค่าไฟฟ้าราคาวัตถุดิบการผลิต ส่งผลต่อความสามารถทางด้านการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทย  5.ความเสี่ยงจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงส่งผลต่อปริมาณน้ำในเขื่อนและแหล่งกักเก็บน้ำ รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรในช่วงปลายปี

ขณะเดียวกัน สรท.ยังมีข้อเสนอแนะที่สำคัญประกอบด้วย 1.เร่งกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนแผนกิจกรรมการส่งออกในครึ่งปีหลัง รวมถึงการเจรจาการค้าเสรี (FTA) ให้มีความต่อเนื่อง เพื่อให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมีสเถียรภาพ และเร่งหาตลาดใหม่เพิ่มเติม 2.ภาครัฐและเอกชน ต้องเร่งบริหารจัดการลดผลกระทบต่อต้นทุนภาคการผลิตที่ปรับสูงขึ้น อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าแรง อัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะมีผลต่อการเจรจาทางการค้ากับคู่ค้า โดยอาจเสียเปรียบคู่แข่งที่สำคัญ รวมถึงต้องเร่งการลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการของภาคการผลิตและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องเพื่อรองรับมาตรการทางค้าใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3.ภาครัฐและเอกชน ต้องเร่งเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการในโซ่อุปทาน (Supply Chains Financing) โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 4.ภาครัฐและเอกชน ต้องเร่งเพิ่มทักษะและสมรรถนะของแรงงาน ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด 5.ภาคเอกชน ควรเร่งพัฒนาและปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตจนถึงส่งมอบสินค้า 6.ภาครัฐและเอกชน ต้องเร่งแสวงหาช่องทางหรือรูปแบบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในรูปแบบใหม่ เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง และยกระดับประสิทธิภาพและโลจิสติกส์ให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า