วันที่ 7 สิงหาคม 2566 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนในปีนี้ว่า ปริมาณฝนปีนี้น้อยกว่าค่าเฉลี่ยรอบ 30 ปี ประมาณ 70% โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 852.3 มิลลิเมตร และน้อยกว่าปริมาณฝนสะสมปีที่แล้ว ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 6 สิงหาคม 2565 อยู่ที่ 958 มิลลิเมตร แต่ต้องติดตามสถานการณ์ฝนเดือนกันยายนถึงตุลาคมต่อไป

 

ทั้งนี้ กทม.ได้เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ตามแผนที่ได้วางไว้ ได้แก่ 1. ควบคุมระดับน้ำในคลอง เพื่อให้มีแก้มลิงรองรับน้ำฝนที่จะตกลงมา 2. ตรวจซ่อมบำรุงสถานีสูบน้ำ 188 แห่ง บ่อสูบน้ำ 324 แห่ง ดำเนินการครบทั้งหมดแล้ว 3. เตรียมความพร้อมอุโมงค์ระบายน้ำ 4 แห่ง 4. เตรียมความพร้อมแก้มลิง 32 แห่ง Water Bank 4 แห่ง 5. ขุดลอกคลอง 182 คลอง ระยะทาง 203 กิโลเมตร (87%) เปิดทางน้ำไหล 1,404 คลอง ระยะทาง 1,518 กิโลเมตร (85%) 6. ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ 3,758 กม. (80%) ล้างทำความสะอาดท่อหน้าตลาด (รอบที่ 1) จำนวน 157 ตลาด(62%) 7. เตรียมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าถาวร 14 จุด รถเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเคลื่อนที่ 17 คัน รถโมบายยูนิต 4 คัน เครื่องสูบน้ำไฮดรอลิก 46 เครื่อง เครื่องสูบน้ำหางอ่อน 17 เครื่อง 8. เตรียมเครื่องผลักดันน้ำ 55 เครื่อง 9. จัดเตรียมหน่วยBEST 35 หน่วย 10. ติดตามสถานการณ์ฝน ตลอด 24 ชั่วโมง มีระบบตรวจวัด (เรดาร์ตรวจ) 2 แห่ง คือ หนองแขมและหนองจอก 11. มีจุดตรวจวัดน้ำท่วม ดังนี้ จุดตรวจวัดถนน 100 แห่ง จุดตรวจวัดอุโมงค์ทางลอดรถ 8 แห่ง และสถานีเครือข่ายตรวจวัดระดับน้ำ 255 แห่ง 12. มีการประสานงานระหว่างหน่วยงาน ทั้งปริมณฑล (สมุทรปราการปทุมธานี นนทบุรี) กรมชลประทาน และการไฟฟ้านครหลวง 13. จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์สนับสนุน โดยสำนักงานเขตเตรียมพร้อมรถบรรทุก รถยก 186 คัน รถตักดิน 34 คัน รถดูดเลน 13 คัน เครื่องสูบน้ำเครื่องยนต์ 491 เครื่อง สำนักการระบายน้ำ เตรียมพร้อมรถบรรทุก รถยก 147 คัน รถตักดิน 21 คัน รถดูดเลน 7 คัน เครื่องสูบน้ำเครื่องยนต์ 363 เครื่อง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า 14 เครื่อง รถเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 17 เครื่อง กระสอบทราย 1,794,300 ใบ กองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง เตรียมพร้อมรถบริการเคลื่อนที่เร็วหรือโมบาย 2 คัน รถปิคอัพเคลื่อนที่เร็ว 8 คัน รถยกลากจูง 45 ตัน 11 คัน รถบรรทุกแบบชานเลื่อนพร้อมชุดยกไฮดรอลิก ขนาด 10 ตัน 2 คัน รถปั้นจั่น ขนาด 70 ตัน 1 คัน และรถกู้ซ่อมแบบปิคอัพพร้อมไฟส่องสว่าง 2 คัน

 

นอกจากนี้ หน่วยงานในสังกัดกทม.ยังได้ร่วมกันสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงหน้าที่ของสำนักการระบายน้ำ แต่เป็นการบูรณาการร่วมกันของทุกหน่วยงาน โดยสำนักการระบายน้ำ มีหน้าที่แจ้งจุดเสี่ยง แก้ไขจุดเสี่ยง ลดระดับน้ำในคลองตามแผน เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ รายงานข้อมูลสถานการณ์น้ำ สำนักงานเขต มีหน้าที่ออกปฏิบัติงานเมื่อฝนตก ผู้อำนวยการเขตสั่งการแก้ไขปัญหา รายงานสถานการณ์ กองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง มีหน้าที่ให้บริการช่วยเหลือประชาชนกรณีรถยนต์ขัดข้อง จัดรถยกรถลากจูง อำนวยความสะดวกในการจราจร สำนักการโยธาจัดหน่วยซ่อมแซมเร่งด่วน (Best Service) สนับสนุนเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ ตรวจสอบและเฝ้าระวังป้ายโฆษณาสำนักเทศกิจ จัดรถสายตรวจลงพื้นที่ จัดรถบริการรับ-ส่งประชาชน สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีหน้าที่เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ สนับสนุนเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ สำนักการจราจรและขนส่ง มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารสถานการณ์น้ำบนป้ายจราจรอัจฉริยะ สนับสนุนข้อมูลจากกล้อง CCTV ตรวจสอบความพร้อมของระบบวิทยุ Trunk Radio สำนักงานประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข่าวสาร แจ้งประเด็นผลกระทบของประชาชนจากปัญหาน้ำท่วมให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำนักงบประมาณสนับสนุนการจัดหากระสอบทราย สนับสนุนงบประมาณแก้ไขปัญหาน้ำท่วม สำนักอนามัย มีหน้าที่แนะนำด้านสุขภาพอนามัยและวิธีป้องกันโรค และสำนักสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่ในการรณรงค์เรื่องการทิ้งขยะอย่างถูกต้อง

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า หน่วยงานทั้งหมดทำงานเชื่อมโยงกันเพื่อรับมือสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ โดยกทม.มีความพร้อมในการรับมือน้ำท่วมตามแผนที่ได้ดำเนินการมาต่อเนื่อง