FWD ประกันชีวิต เดินหน้า โครงการพัฒนาชุมชนลาหู่ ดอยปู่หมื่น อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ต่อยอด 3 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการธนาคารต้นกล้า ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการบริหารจัดการต้นกล้าชาและการทำงานร่วมกันในชุมชน โครงการพัฒนาคุณภาพชา เพิ่มคุณภาพของผลผลิตตามหลักเกษตรอินทรีย์โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และโครงการเพิ่มมูลค่าชาอัสสัม สร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับชาอัสสัมให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง สร้างรายได้ที่มั่นคงจากอาชีพหลักของชุมชน โดยชุมชนให้การตอบรับเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการมากถึง 33 ครัวเรือน และมีผลผลิตใบชาในปริมาณที่เพิ่มมากกว่า 50% ถือเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างชุมชนต้นแบบสู่การพัฒนาชุมชนอื่นเพิ่มเติม หวังสร้างความเท่าเทียมทางสังคมและความเป็นอยู่อย่างยั่งยืน  

เดวิด โครูนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)

นายเดวิด โครูนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (“FWD ประกันชีวิต”)  เปิดเผยว่า หลังจากที่ FWD ประกันชีวิต ได้คัดเลือกชุมชน ลงพื้นที่และเริ่มทำงานพัฒนาชุมชนร่วมกับชุมชนลาหู่ ใน “โครงการพัฒนาชุมชนลาหู่ ดอยปู่หมื่น” อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2564 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างประโยชน์ให้สังคมสามารถเป็นอยู่ได้อย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายของ FWD ที่สนับสนุนให้ผู้คนในสังคมไทยได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่แบบไม่ต้องกังวล โดยเรามีกรอบแนวคิดในการพัฒนาอย่างยั่งยืน 3 ด้าน คือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการทำงานในครั้งนี้เราได้รับความร่วมมือจากหลายส่วนในการร่วมพัฒนาและทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว (อพท.) ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร จังหวัดเชียงใหม่ เข้าช่วยพัฒนาโครงการต่างๆ

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาชุมชนของ FWD ประกันชีวิต ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 3 โครงการ โดยมีรายละเอียดและความคืบหน้าดังต่อไปนี้

- โครงการธนาคารต้นกล้า

เป็นโครงการแรกที่จัดตั้งขึ้นหลังจากมีการสำรวจความคิดเห็นและ ความต้องการของชุมชน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน เพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องจำนวนต้นกล้าไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับพื้นที่ และต้องการเพิ่มผลผลิตชาให้มากขึ้นในระยะยาว และเพื่อให้ชุมชนได้เรียนรู้ในการทำงานร่วมกัน พัฒนาด้านสังคม จึงให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการต้นกล้าอย่างเป็นระบบด้วยตัวเอง ตั้งแต่การเลือกนายธนาคารเพื่อช่วยในการดำเนินการ การออกแบบแบบฟอร์มในการของรับต้นกล้า การลงทะเบียนสมาชิก ไปถึงการตรวจสอบระบบการนำต้นกล้าไปใช้ส่งผลให้เกิดการเพาะพันธุ์อย่างมีคุณภาพ มอบต้นกล้าให้สมาชิกเพื่อเพิ่มปริมาณต้นชา และส่งเสริมให้เกิดการจัดการทรัพยากรต้นกล้าและเมล็ดพันธุ์อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งให้ความรู้ในการบริหารจัดการธนาคารต้นกล้า วางแผนการดำเนินงานและจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นระบบ ซึ่งในปี 2565 ที่เริ่มดำเนินการได้เปิดรับสมาชิกโครงการธนาคารต้นกล้ารุ่นที่ 1 มีผู้ผ่านเข้ามาเป็นสมาชิกจำนวน 21 ครัวเรือน จากนั้นได้มีการทำสำรวจผลการดำเนินงาน พบว่า 86.6% ของจำนวนสมาชิกได้นำองค์ความรู้ในการเพาะปลูกไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่ทางการเกษตรของตนเองและเห็นการเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมา ด้วยความสำเร็จของรุ่นแรก ในปีนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการธนาคารต้นกล้ารุ่นที่ 2 จำนวนเพิ่มขึ้น 12 ครัวเรือน ทำให้ปัจจุบันมีสมาชิกโครงการธนาคารต้นกล้ารวมทั้งสิ้น 33 ครัวเรือน

ชาวลาหู่กับต้นชา

 ยอดใบชาอัสสัม

- โครงการพัฒนาคุณภาพชา 

จัดตั้งขึ้นเพื่อให้สมาชิกมีองค์ความรู้ในเชิงบูรณาการ เข้าใจรูปแบบการผลิตที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ นอกจากนั้นยังมีส่วนร่วมเพิ่มคุณภาพของผลผลิตตามหลักเกษตรอินทรีย์โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้ในการอบใบชา การเพาะปลูกที่ใช้ปุ๋ยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งออกเป็น 2 งานหลัก คือ

(1)     เพิ่มคุณภาพจากผลผลิตในปัจจุบัน ผ่านการพัฒนาโรงอบใบชา โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 ร่วมกับศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ออกแบบนวัตกรรม “โรงอบชาอัจฉริยะ” (SMART) ที่ใช้ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ผลปรากฏว่า สามารถแก้ไขข้อจำกัดในกระบวนการผลิตชาให้มีคุณภาพมากขึ้นจากโรงอบชาเดิมที่สามารถตากชาได้เพียง 60 ถาด ตากใบชาสดได้ 200 กก./รอบ จำนวนใบชาแห้งที่ได้ 40 กก./รอบ เป็นตากชาได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 100 ถาด ตากใบชาสดได้เพิ่มขึ้นเป็น 300 กก./รอบ จำนวนใบชาแห้งที่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 60 กก./รอบ นอกจากนี้ยังได้มีการติดตั้งระบบ SMART Device ภายในโรงอบชา เพื่อแสดงผลฐานข้อมูลอุณหภูมิและความชื้นของโรงอบชาผ่านโทรศัพท์มือถือมาใช้ในการอ่านข้อมูล เพื่อนำมาวิเคราะห์และหาแนวทางการพัฒนาโรงอบชาต่อไป

(2)     เพิ่มปริมาณของผลผลิตใบชาในอนาคต ผ่านโครงการธนาคารต้นกล้า ด้วยการมอบต้นกล้าชาและเมล็ดพันธุ์ให้กับชุมชนซึ่งเป็นสมาชิกในโครงการ พร้อมให้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาศักยภาพเกี่ยวกับกระบวนการเพาะปลูก ตั้งแต่การเพาะเมล็ดและคัดเลือกต้นกล้าที่แข็งแรง จัดอบรมเรื่องการดูแลต้นกล้า การใช้ปุ๋ยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการเก็บเกี่ยวตามมาตรฐาน โดยในปีแรกได้มอบต้นกล้าให้แก่สมาชิกรุ่นที่ 1 รวม 2,100 ต้น และเมล็ดพันธุ์รวม 21 กก.และในปีนี้ได้มอบต้นกล้าให้แก่สมาชิกรุ่นที่ 2 รวม 1,200 ต้น และเมล็ดพันธุ์อีก 12 กก. ซึ่งชุมชนได้รับต้นกล้าและเมล็ดพันธุ์ที่ลงแปลงเพาะแล้ว รวมกว่า 5,000 ต้น นอกจากนั้นสมาชิกในชุมชนยังมีแนวคิดร่วมกันในการผลักดันให้ชาดอยปู่หมื่นก้าวสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) ของกรมวิชาการเกษตร เพื่อสร้างมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้แก่สมาชิกสามารถนำไปต่อยอดในการจำหน่ายชาให้มีราคาขายมากยิ่งขึ้นพร้อมทั้งเพิ่มรายได้ในระยะยาว

 ผลผลิตจากใบชาเป็นช็อตโกแลต

 ผลผลิตใบชาจากดอยอัสสัม

- โครงการเพิ่มมูลค่าชาอัสสัม

เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 โดยมีแนวคิดในการนำใบชาไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น เพื่อยกระดับชาอัสสัมจากดอยปู่หมื่นให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจาก “เชฟชุมพล แจ้งไพร” เชฟมิชลิน 2 ดาว ผู้นำเสนอประสบการณ์อาหารไทยแบบ Fine Dining นำใบชามารังสรรค์ 3 เมนูอาหารคาว และ 2 เมนูเครื่องดื่ม พร้อมวางขายเมนูพิเศษในร้านหวานไทย นอกจากนี้เรายังมีแผนที่จะนำชาอัสสัมไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการ

ส่วนแผนการพัฒนาชุมชนที่ FWD กำลังดำเนินการร่วมกับชุมชน คือ การแนะนำวิธีการทำการตลาดและการจัดจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ ช่องทางออนไลน์ และต่อยอดสู่การออกบูธแสดงสินค้าของชุมชนได้ในอนาคต ผ่านการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมให้ชุมชนมีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ความรู้ด้านเทคโนโลยี เพื่อเป็นช่องทางการตลาดในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การทำธุรกิจออนไลน์ การทำคอนเทนต์ การถ่ายภาพออนไลน์ ตลอดจนการเล่าเรื่องราว เพื่อสื่อสารอัตลักษณ์เด่นและเรื่องเล่าของชุมชน โดยเราให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการส่งเสริมพัฒนาทั้งห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง

ชาอัสสัม

“นอกจากนี้ ในการทำงานขั้นตอนต่อไป ทางทีมงานพร้อมนำข้อมูลที่ได้เกี่ยวกับผลผลิตใบชาที่มีคุณภาพ เพื่อให้ได้รับมาตรฐานที่เป็นสากล โดยเรามุ่งหวังให้ชุมชนสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน หลังจากได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมความรู้ทั้งในเรื่องสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ FWD ประกันชีวิต จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการนี้เป็นโมเดลต้นแบบในการพัฒนาชุมชนอื่นๆ ต่อไป” นายเดวิด กล่าว